NCDs Reality ตอนที่11

NCDs Reality ตอนที่11 : เลิกเหล้า เลิกโรค

ครั้งที่แล้ว NCDs Reality ตอนที่10 ได้พูดถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อเป็นบทเรียนตัวเอง  คลิปนี้มีอาสาสมัคร 4 คน ที่มีปัญหาติดเหล้า แต่ละคนก็จะมีความจำเป็น มีปัญหา และวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน อะไรทำให้พวกเขาสามารถเลิกเหล้าได้ ใครมีส่วนสำคัญ และไปดูคำแนะนำดีๆจากคุณหมอ ที่ช่วยให้เลิกเหล้าได้โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ  แต่ใช้ใจนั้นสำคัญที่สุด

สรุป NCDs Reality ตอนที่11 :  เลิกเหล้า เลิกโรค

ข้อความบน Line เปิดรายการ

“ว่างหรือเปล่า?”

“ว่างมีอะไรเหรอ?”

“เบื่อมากเลย ช่วงนี้จ๊น…จน  ไปกินเหล้ากันมั้ย”

“กินเหล้าแล้วมันจะรวยขึ้นได้เหรอไง  ไม่ไป!!!”

“นอกจากจนแล้ว  ยังเครียดด้วยนะ  ไปกินเหล้ากัน”

“เครียดก็ไปหาอย่างอื่นทำ ไม่เอา!!!”

“แต่วันนี้มีงานฉลองที่ร้านข้างบ้านด้วยนะ”

“โห…ถ้ากินเหล้ามันทุกเทศกาลแบบนี้ ไม่พ้นเป็น “โรค”แน่ๆ”

.

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับ กลุ่มโรค NCDs

    1. โรคความดันโลหิตสูง  เพราะการดื่มเหล้าจะไปกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดแรงขึ้น เร็วขึ้น อาจทำให้เกิดหลอดเลือดแตก เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
    2. โรคเบาหวาน  เพราะทำให้ตับอ่อนอักเสบ สร้างอินซูลินได้น้อยลง
    3. โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
    4. โรคเบาหวาน
    5. โรคมะเร็ง เพราะเหล้าไปกระตุ้นเซลล์เยื่อบุผิว ที่ลำไส้ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ และตับอ่อน ทำให้เกิดมะเร็งบริเวณนั้นๆ
    6. โรคตับอักเสบ  เพราะเมื่อเหล้าเข้าสู่ร่างกาย อวัยวะที่รับหน้าที่หนักที่สุดคือ ตับ เพราะเมื่อกินเหล้า ตับจะพยายามฟอก สกัด และกรองของเสีย จะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น จนไม่สามารถขจัดของเสียออกได้หมด ทำให้เกิดตับอักเสบ อาการคือ มีไข้ ปวดหัว ตัวเหลือง ปวดท้อง หากอาการรุนแรงมาก ก็อาจถึงตายได้

ตัวช่วยเลิกเหล้า

    • ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเลิกเหล้าเพื่ออะไร? เพื่อใคร? เพราะเหตุใด?
    • หักห้ามใจ ลดปริมาณการดื่ม จนกระทั่งสามารถไม่ดื่มเลยในที่สุด
    • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้อยากดื่ม
    • ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แทนการดื่มสังสรรค์
    • ฝึกปฏิเสธให้เด็ดขาด
    • ขอกำลังใจจากคนรอบข้าง
    • ปรึกษาหน่วยงานช่วยเหลือ  คือ สายด่วยเลิกเหล้า 1413 , สายด่วนยาเสพติดสถาบันธัญญารักษ์ 1165 , โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั่วประเทศ

.

 

คุณ ภูริวัจน์ ธรรมอัครวิทย์ (นัท) อายุ 34 ปี

     ตอนนี้หยุดสูบบุหรี่ได้เกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังหยุดเหล้าไม่ได้

     ผมเริ่มดื่มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 14 เริ่มมาพร้อมๆกับบุหรี่  ปกติก็จะดื่มเบียร์วันละ 3-4 ขวด เหล้าประมาณครึ่งแบนถึง1แบน ดื่มคนเดียว ทุกวันด้วย

     ภรรยาให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้เรื่องบุหรี่ ไม่จำเป็นต้องคอยต่อว่าอะไรแล้ว สบายใจ ดีใจ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะเลิกได้ คือเขาไม่เคยพูดเลยว่าอยากเลิกบุหรี่ หรือน้อยครั้งมาก  แต่นี่เลิกได้เอง  ดีมากๆเลย  แต่ยังห่วงเรื่องเหล้า  เพราะยังไม่ได้เห็นจริงจังว่าจะเลิก

ตอนนี้ผมเริ่มคิดวางแผนจะเปลี่ยนแปลงแล้ว เริ่มจากง่ายๆก่อน คือ

      • ลองหยุดดื่มเหล้า 3 วันก่อน
      • จัดสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เห็นขวดเหล้าวางไว้  เพราะปกติจะวางขวดเหล้าเปล่าโชว์ไว้บนหิ้ง เรียงๆกันเป็นตับ  ดูเชิดชูมันมากเลย  ตอนนี้ก็จะเก็บกวาด ทิ้งให้หมด
      • แช่นม แทนแช่เบียร์  ดื่มนมแทน น่าจะดีกว่า
      • จะไปขอร้องที่ร้านขายของชำแถวบ้านว่า ช่วยอย่าขายเบียร์ให้ผมหน่อย
      • ไปปรึกษาแพทย์ที่คลินิก สถาบันธัญญารักษ์

(คำถามของหมอต่อไปนี้สำคัญมาก เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่จะทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น)

วันนี้มีปัญหาอะไรที่อยากให้หมอช่วยบ้างครับ? (ฟังเผินๆอาจจะคิดว่าหมอกวนหรือเปล่า มาคลิกนิกเลิกเหล้า ก็ต้องอยากเลิกเหล้าน่ะสิ จะถามทำไม  แต่จริงๆแล้ว เขาต้องการให้ตอบตัวเองมากกว่า ว่าตกลงตั้งใจจะทำอะไร ต้องการอะไร?)

      • ผมอยากเลิกดื่มเหล้า  จริงๆก็ไม่ได้กินเยอะ แต่ก็บางทีกินแล้วมีปัญหา

ดื่มเหล้ามานานหรือยัง?

      • 20 ปีแล้วครับ สมัยเรียน และจบใหม่ๆจะกินเยอะมาก แต่เพิ่งจะเริ่มลดๆ 1 ปีที่ผ่านมา

แล้วเกิดอะไรขึ้น ถึงกินลดลงในปีที่ผ่านมา? (อันนี้ก็เป็นคำถามที่ดี ที่ทำให้ตัวเองย้อนนึกได้ว่า อะไรทำให้เราอยากเลิกจริงๆ)

      • เพราะแต่งงาน เลยอยากหยุดดื่ม

แล้วครั้งนี้ อะไรทำให้เราตัดสินใจมาเลิก?

      • อยากจะเลิกให้แฟนครับ เพราะรู้สึกว่า ใช้ชีวิตมาหนักเกินไป แล้วเริ่มจะห่างๆจากภรรยา มีปัญหาครอบครัว เพราะภรรยาไม่ชอบมากๆเรื่องเหล้า มีตอนเลิกสูบบุหรี่ได้ ภรรยาก็เริ่มให้กำลังใจ

     หมอได้แนะนำว่า ปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้เขาเลิกเหล้าได้คือ ภรรยาของเขาเอง  เพราะเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับครอบครัว และภรรยา ดังนั้นภรรยาต้องมีบทบาทมีส่วนช่วยได้มาก

     วิธีที่หมอแนะนำเพิ่มคือ ให้ตั้งเป้าหมายวันต่อวันก็พอ ว่าวันนี้จะไม่ดื่มเหล้า พอถึงพรุ่งนี้ก็ตั้งอีกว่า วันนี้จะไม่ดื่มเหล้า พรุ่งนี้ก็เอาใหม่ แล้วก็คอยชื่นชมตัวเองทุกวันที่ทำได้ สักพักนึงก็จากที่เป็นวันต่อวัน มันก็จะเป็นเดือนเป็นปีเอง

     ภรรยาให้สัมภาษณ์อีกว่า  การที่มีสามี ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มันเป็นความฝันของผู้หญิงอยู่แล้วนะ ทั้งรักครอบครัว ให้เวลากับครอบครัวเป็นหลัก ถือว่าเป็นของขวัญอยู่แล้ว

     ผมตั้งคำพูดสร้างพลังคือ “หยุดดื่มเหล้า ง่ายนิดเดียว”

     รางวัลสำหรับการหยุดดื่มเหล้า ถ้าทำได้ 3 วัน คือ อยากซื้อดัมเบล ยกน้ำหนัก 1 ชุด  จะได้เลิกยกแก้ว มายกดัมเบลแทน

 .

 

จ.ส.อ.ศาทิพ จิตร์แน่น  อายุ 36 ปี

     ตอนนี้มีแผนเพื่อสอบภาคปฏิบัติ ให้ผ่านเกณฑ์ทหารสัญญาบัตร คือ ออกกำลังกาย ซ้อมวิ่ง ควบคุมการกิน  แล้วก็เลิกเหล้า เลิกเบียร์  โดยใช้วิธีหักดิบเลย พอเข้ารายการ ก็ตัดสินใจทันทีว่าจะเลิก คือแค่เลิกกินเหล้า 1เดือน ลดน้ำหนักไปได้ 4 กิโลกรัมเลย

     “คือชีวิตผมต้องอยู่กับเพื่อน ถ้าให้ไม่คบเพื่อนเลย  เพื่อจะได้ไม่เห็นเหล้าคงทำไม่ได้  ดังนั้นเลยลองไปนั่งร่วมวงกับเขา แต่เราไม่กิน ปรากฏว่าก็ทำได้ เห็นเพื่อนดื่มเหล้าไป เราก็ดื่มน้ำไป แรกๆก็จะยากนิดนึง”

     ภรรยาก็ให้สัมภาษณ์ว่า “เขาไม่กินเลย จริงๆเราก็กินเหล้าเหมือนกันนะ แต่ไม่มาก แต่พอเขาไม่กินเราก็ต้องไม่กิน เพราะเขาจะหาว่า พี่ไม่กินแต่ทำไมเรายังกินอยู่”

     คำพูดของหมอที่ก้องในหูของทั้งสองคือ คุณไม่อยากอยู่ดูลูกตอนรับปริญญาหรอ มันเลยทำให้คิดอยู่ตลอด

     “ตอนนี้หยุดกินเบียร์มาได้ 2 เดือน ก็ประหยัดเงินไปประมาณ 1800 บาท นี่คือเงินที่เหลือจากการไม่ซื้อเบียร์ ตั้งใจจะเอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อของขวัญให้ลูกชาย”

เข้าปรึกษาหมอที่สถาบันธัญญารักษ์

หมอถามว่า ก่อนหน้านี้เคยหยุดดื่มเหล้าบ้างมั้ย?

      • ไม่เคยหยุดดื่มเลย แต่จะได้หยุดดื่ม  ก็ตอนสงกรานต์ เพราะจะไม่ได้อยู่กับเพื่อน จะอยู่กับครอบครัวมากกว่า เจอพ่อ เจอแม่ เลยไม่ได้ดื่มเหล้า

     ผมคิดว่า ถ้าตอนสงกรานต์ เราเริ่มกินเมื่อไหร่  มันจะกินยาวเลย  แต่ถ้าเราเริ่มต้นไม่กิน มันก็จะไม่กินเลย แม่ถามว่าจะกินเหล้ามั้ย ยังตอบว่าไม่เอาเลย  ปัจจุบันหยุดดื่มเหล้ามาได้ 3 เดือน 15 วันแล้ว

.

คุณ วัฒนชัย ลิ้มสวัสดิ์ (อุ้ย) อายุ 28 ปี

เข้าปรึกษาหมอที่สถาบันธัญญารักษ์

หมอถามว่าเริ่มดื่มเหล้ามานานหรือยัง?

        • เริ่มดื่มเหล้าตอนอายุ 14 ครับ ตอนนี้ 28 ก็ประมาณ 13-14 ปีแล้ว  แต่ตั้งแต่อายุ 16 จนถึงก่อนหน้านี้ไม่นานก็จะกินเยอะมาก ถ้าได้กินแล้วก็จะกินเยอะเลย ต้องกินจนเมา กินนิดๆหน่อยๆไม่กินดีกว่า

เคยลองหยุดดูหรือยัง?

        • เคยลองหยุดตอนที่ตรวจสุขภาพ แล้วพบว่ามีค่าตับสูง หมอบอกว่าไม่ใช่ไวรัส แต่เป็นเพราะเหล้า  หลังจากนั้นก็รักษาจนดีขึ้น แล้วก็กลับไปกินเยอะๆเหมือนเดิมอีก  ค่าตับก็พุ่งขึ้นอีก  ก็เริ่มหยุดอีก แล้วกินๆหยุดๆ
        • แต่มีช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุเพราะเมา ขนาดเพื่อนเตือนแล้ว ว่าอย่าขับรถ แต่ไม่เชื่อ ก็เอารถไปชนกำแพง  รู้ตัวแค่ว่าชน แล้วก็จำอะไรไม่ได้อีกเลย  รู้สึกตัวมาอีกทีก็ตอนตื่นขึ้นมา  ก็นอนอยู่บนห้องในโรงแรมคนเดียว  พบว่าทั้งเนื้อทั้งตัวมีรอยช้ำเต็มไปหมด  กุญแจรถยังงอเลย   มองไปรอบๆ เห็นบะหมี่ที่กินหกเลอะ  ก็งง ว่ามาจากไหน   เลยไปถามเพื่อน  เขาก็เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเมา ลื่นล้มนับครั้งไม่ถ้วน  เดินๆไป ก็ล้มใส่โต๊ะบ้าง  เดินสะดุดบ้าง  ทางขึ้นบันได แล้วมีล้มใส่หม้อต้มบะหมี่ใส่ตัวเอง

แล้วเข็ดมั้ย?

        • ในแง่ของความสนุก เราก็จำอะไรไม่ได้นะ  แต่มันเป็นเรื่องชินชาไปแล้ว  เพราะมันเกิดขึ้นบ่อย   แต่ก็ไม่อยากให้เกิด  เพราะมันทั้งเสียเงิน ทั้งเจ็บตัว รถก็ต้องซ่อม เสียเวลา ตัวก็ต้องไปรักษา  มันเป็นความสุขแค่ชั่วครั้งชั่วคราว วันสองวัน

แล้วไม่ดื่มเหล้าได้มั้ย?

        • ก็ได้ครับ

 

     หมอแนะนำว่า การที่ครั้งก่อนนั้น  หยุดดื่มแล้วค่าตับมันดีขึ้นก็จริง  แต่ครั้งต่อๆไป  มันอาจไม่เป็นแบบนั้นก็ได้  เพราะมันจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเป็นโรคตับแข็ง  หรือพิษสุราเรื้อรัง  ถ้ารักษาไม่ได้   ก็อาจต้องเป็นทุพลภาพตลอดชีวิต   ถ้ายิ่งน้ำหนักเกินด้วย   ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ

.

 

คุณ ปัญจพล เพชรเกษม (มิ้ว) อายุ 29 ปี  เป็นเบาหวาน

เข้าปรึกษาหมอที่สถาบันธัญญารักษ์

หมอถามว่า เริ่มกินเหล้ามาตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

        • ตั้งแต่ตอนเข้ามหาวิทยาลัยครับ  กำลังอยู่วัยห้าวเลย เรียนเสร็จก็ไปนั่งตามร้าน  แต่จริงๆตัวผมเองไม่ได้กินแล้วชอบ เพราะมันไม่อร่อย  แต่กินเพราะได้สนุกที่ได้อยู่กับเพื่อน  วัยรุ่นยังกินไม่เยอะ ไม่ถึงขั้นเมาหัวทิ่ม  แต่จะมากินหนักตอนวัยทำงาน  เพราะทำงานแล้วก็ต้องดื่ม

ทำไมทำงานแล้วต้องดื่ม?

        • ก็ในสังคมของสถานบันเทิงกลางคืน ลูกค้าชอบเรา ก็จะส่งเหล้าให้ดื่ม ได้ทิปด้วย

ครอบครัวว่ามั้ย?

        • ก็พยายามไม่ให้รู้  ผมก็รู้ว่าพ่อห่วง ถ้ากลับบ้านมาแล้วเมา ก็ย่องเบาๆ  ไม่ให้ใครได้ยิน
        • จริงๆผมคิดได้นานแล้วนะ  แต่ยังไม่ได้ลงมือทำจริงจัง เลยอยากมาปรึกษาหมอว่าควรทำยังไง

แล้วตอนนี้ได้คำตอบหรือยังว่าควรทำยังไง?

        • ก็พอได้แล้วครับ คิดแค่เรื่องเดียวคือเรื่องครอบครัว ถ้าเลิกเหล้าได้ เบาหวานก็ดีขึ้นแน่นอน

.

     หมอเลยแนะนำว่า บอกไปเลยว่า  มีโรคอยู่  หมอสั่งห้าม  เขาก็ไม่ยัดเยียดหรอก

     น่าดีใจที่ตอนนี้ มิ้วเริ่มเปลี่ยนแปลงคือ พอลูกค้ายื่นเหล้ามาให้ พร้อมแบงค์ห้าร้อย แบงค์พัน  เขาก็จะบอกว่าไม่เอาเหล้าได้มั้ย  เอาแต่แบงค์ได้มั้ย   ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอา  ผมรักครอบครัวครับ (สุดยอดเลยอ่ะ)

     หลังจากเลิกเหล้าได้  สิ่งที่มิ้วได้รับคือ ร่างกาย สุขภาพดีขึ้น ไม่ปวดหัว ไม่จะอ้วก ตื่นเช้าไหว เพราะเมื่อก่อนตื่นได้  แต่มันไม่ไหว ผมว่าเลิกอย่างใดอย่างหนึ่งได้เดี๋ยวมันก็เลิกได้หมดเองนะ

.

คุณวีรานันท์ แต้ภิรมย์รัตน์ (ส้มโอ) อายุ 25 ปี

     แม้จะไม่ได้ดื่มเหล้า แต่วันนี้กลับมาเยี่ยมบ้านที่บ้านเกิด ได้กำลังใจจากครอบครัว

     คุณแม่ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด ก็ผอม แต่พอไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็อ้วนขึ้น ก็ตามใจตัวเอง วันนี้กลับมาบ้าน คุณแม่ก็ทำอาหารต้มยำปลานิลให้ทาน  ปกติอยู่ที่บ้านคุณแม่จะคิดเมนูให้ตลอด  อาหารดีๆทั้งนั้น

     คุณแม่จะคอยควบคุมปริมาณให้เรา แล้วที่บ้านก็มีอาม่า ก็จะมีอาหารเป็นพวกสมุนไพร พวกผัก อาหารที่ดีต่อสุขภาพ

     อาม่าให้สัมภาษณ์ว่า  ตัวเองเป็นคนรักษาสุขภาพคือ ไม่ค่อยชอบกินเค็ม  แต่ก็กินทุกอย่างนะ  กินอย่างละนิดละหน่อย กินพอชิมๆ

     (อายุ 72 แล้ว แต่ยังดูแข็งแรงอยู่เลย)

     “ก็อาม่าออกกำลังกายนี่ ทำมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว มีเต้นแอโรบิค  อยู่ที่บ้านก็เหวี่ยงแขน เหวี่ยงขาไปมาก็ได้”

อาม่าอยากบอกอะไรกับส้มโอบ้าง?

      • ก็บอกเขา แต่เขาไม่เชื่อเอง  ชวนไปเต้นแอโรบิค  ก็ไม่ยอมไป  ไม่มีใครเชื่อเขา  คนเราอยู่กับบ้าน  ก็ออกกำลังกายได้  เต้นอยู่กับบ้าน  ซื้อเชือกมาเส้นนึง กระโดดไป กระโดดมาก็ได้  แต่ขี้เกียจกันเอง ถ้าทำไม่อ้วนแบบนี้หรอก  มีแต่นอน แล้วก็เล่นโทรศัพท์

(เห็นแล้วน่าชื่นชมอาม่ามากๆเลย มีตัวอย่างดีๆอยู่ใกล้ๆแท้ๆ)

คุณแม่เคยพูดกดดันอะไรน้องส้มโอเขาบ้างมั้ย?

      • ก็มีแซวๆว่า ตายแล้ว ทำไมลูกแม่อ้วนขึ้นแบบนี้ ไปทำอะไร ไปกินอะไร  แต่ก็บอกว่า อดทนนะลูก  มันอาจจะยาก เพราะเราปล่อยตัวเองมานาน แต่ไม่ตายหรอก สู้ๆ

     “คือหนูรู้จุดประสงค์ของเขานะ  เรารู้เวลามีคนมาว่าเรา  แล้วก็ยอมรับ ว่าเราเป็นแบบที่เขาว่าจริงๆ  คือเราดื้อเองไง  ไม่ยอมฟังเขา  เขาก็อยากให้เรามีแรงกระตุ้น”

.

 

คุณเจน (ภรรยา) และคุณ สุพิเชษฐ์ สุจารีรัตน์(สามี) อายุ 33 ปี

     นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ได้ให้คำแนะนำว่า  โดยทั่วไป เวลาเราอยากจะเปลี่ยนอะไรก็ตาม เราก็คิดแต่ว่า เรารู้แล้ว เราก็จะทำ  แต่พอทำไม่ได้ ก็คิดแต่ว่า เรามีแรงจูงใจไม่ดี  เรามีพลังใจไม่เข้มแข็งพอ  เราเป็นคนอ่อนแอ  แต่จริงๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงหลายๆเรื่อง  ต้องอาศัยทักษะเฉพาะ  หมอพบว่ามีทักษะอยู่ 1 ชุดที่น่าให้พวกเราฝึกกันนั่นคือ “การกินอาหารให้ช้าลง”

      เนื่องจากคนเรา มักเคยชินกับการกินเร็วโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นวิธีฝึกการกินอาหารให้ช้าลง เริ่มจาก

      1. ฝึกให้พิจารณาอาหารก่อน ว่าให้รู้ก่อนว่าเราทานอะไร
      2. ฝึกถามตัวเองว่า เราอยากกินชิ้นนี้จริงๆมั้ย เบรคนิดๆก่อนจะเริ่ม
      3. ฝึกลิ้มรสอาหารให้รู้รสก่อน ละเลียดให้เต็มปากก่อน อย่าเพิ่งกลืน
      4. ขั้นต่อไป ให้เอาเข้าปากเฉยๆ อมไว้ อย่าเพิ่งเคี้ยว  แล้วลองดูว่าเรารับรสอะไรได้บ้าง ตอนที่เราเอาวางบนลิ้นไว้เฉยๆ
        • คุณเจนเริ่มฝึกให้ดู กำลังจะทานข้าว ก็มีกับข้าวจานนึง คุณเจนก็พิจารณา แล้วก็อธิบายออกมาว่า ก็มีผัก มีหมูกรอบ มีกระเทียม
        • คุณเจนเริ่มตักหมูกรอบ มาชิ้นแรก  หมอบอกให้พิจารณาก่อนใช่มั้ย  ก็เป็นหมู  มี3ชั้น  เนื้อ ไขมัน หนัง ให้ดมก่อนใช่มั้ย ฝึกดม  ฝึกมอง อึ้ม.. หอมดี
        • คุณเจนเริ่มนำเข้าปาก อมไว้ก่อน  เริ่มรับรสชาติ  อธิบายออกมาว่า  ก็เป็นรสชาติของหมู  กับแป้ง  มีซอสปรุงรส  หอมพริกไทย  พอกัด  แล้วค่อยๆเคี้ยวช้าๆ  รสของน้ำของหมูก็จะออกมา  เคี้ยวได้ซักพัก พอมันเริ่มรู้สึกจืด แล้วก็กลืนลงไป
        • มีความรู้สึกว่า  กินชิ้นเดียว  เหมือนได้กินสิบชิ้นเลยนะ   ตั้งแต่ตอนดมแล้ว  ก็เหมือนเราได้กินแล้ว  พอเคี้ยวช้าๆ  เราก็รู้สึกได้กินเยอะ

     “จริงๆคนที่เขาชินแล้ว ก็อาจทำได้ตลอดเวลานะ กับอาหารทุกอย่าง  แต่สำหรับตัวเจนเอง จะใช้วิธีนี้กับอาหารที่มีไขมันสูง  อย่างเวลาไปกินอาหารนอกบ้าน พวกของทอด”

      “ก็ยังต้องไปกินอาหารนอกบ้านอยู่  มันก็สะดวกกว่า แต่ก็น้อยลงแล้ว พวกบุฟเฟ่ต์ก็น้อยกว่าแต่ก่อน บางทีก็ทำปิ่นโตไปกินเอง  ถ้าต้องทานอาหารข้างนอก  ก็จะต้องใช้วิธีคุมปริมาณ เพราะจะไปหาอาหารต้ม นึ่ง ไม่ค่อยมีใครขายหรอก  ส่วนใหญ่จะเป็นพวก ผัด ทอด  ก็ทานในสิ่งที่อยากทานนั่นแหละ แต่ต้องใช้วิธีคุมปริมาณ”

     “หมอเขาสอนว่า เราสามารถทานในสิ่งที่เราอยากทานได้ แต่ในปริมาณน้อยลง ไม่ต้องเยอะ แต่สามารถอร่อยเท่าเดิมได้”

     คุณหมอบอกว่า การที่เรากินช้าลง มันจะกินอร่อยขึ้น แค่กินให้ช้าลง แต่อร่อยมากขึ้น ก็สามารถควบคุมปริมาณ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หรือแม้กระทั่ง กินของที่เคยรู้สึกว่าไม่อร่อย แต่เริ่มอร่อยได้ด้วย

     ชีวิตคนทุกวันนี้  ชอบทำอะไรเร็วเกินไป  จนไม่ได้มีโอกาสได้รับรู้รสชาติของมันสักเท่าไหร่นัก   เราอาจพูดคุย  คิดนู่นคิดนี่ไปด้วย  แล้วเราก็กินเกิน  ดังนั้นการกินช้าๆ กินแบบรู้สึกตัว  เป็นมาตรการสำคัญมาก  สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก  คือความรู้เรื่องอาหารมีเยอะแล้ว   แต่ความรู้ว่า จะจัดการความรู้สึก กับการกินโดยไม่รู้ตัวยังไง เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน

     คนเราเวลาเครียด ก็จะกินอะไรไม่คิด  พอเครียดมากๆ  ก็จะควบคุมตัวเองไม่ได้  บางทีก็ไปใช้บุหรี่ กินเหล้า  ถ้าเราจัดการกับความเครียดได้  เราก็มีแนวโน้มที่จะกินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น  ออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้มีงานวิจัยยืนยันว่า ความสุข ความเครียด มีผลต่อพฤติกรรมอย่างชัดเจนมาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.