NCDs Reality ตอนที่3 : รู้จักและเข้าใจ
ครั้งที่แล้ว NCDs Reality ตอนที่2 อาสาสมัครทั้ง 6 คน ได้ถูกตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และประเมินพฤติกรรมการทานอาหาร ครั้งนี้จะเป็นการเรียนรู้เพิ่มความเข้าใจ กับสาเหตุของกลุ่มโรคNCDs พบกับที่ปรึกษาส่วนตัวผู้ที่เคยผ่านเรื่องเดี่ยวกับอาสาสมัครแต่ละคน ซึ่งจะแชร์ประสบการณ์การมีพฤติกรรมดีๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร
สรุป NCDs Reality ตอนที่3 : รู้จัก และเข้าใจ
(ถอดความให้สำหรับคนที่ไม่มีเวลาดูคลิป 50 นาที หรือดูคลิปไม่ได้นะคะ)
การคิดว่าโรคหัวใจ โรคความดัน โรคไขมัน โรคเบาหวาน เป็นโรคของ “คนรวย” คนมีตังค์ กินอาหารหรูหรา ตัวเองไม่ใช่คนมีเงินเยอะๆ ที่จะซื้ออาหารแพงๆ ไม่เป็นโรคอ้วนหรอก หรือตัวเอง “ยังไม่แก่” ยังไม่เป็นหรอก หรือโรคมะเร็งก็ต้องขึ้นอยู่กับ “ดวง” คิดว่าตัวเองดวงแข็ง ทำบุญมาเยอะ ไม่เป็นหรอก
แต่ความจริงคือ โรคดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องรวย ไม่ต้องแก่ ไม่เกี่ยวกับโชคชะตา ก็เป็นกันได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเราเองทั้งนั้น
กลุ่มโรค NCDs มักเกิดจาก ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ความคิดผิดๆ ความเชื่อเพี้ยนๆ เช่น
- นึกว่า NCDs เป็นโรคของคนแก่ อะไรๆก็ต้องเสื่อมมากกว่าคนหนุ่มสาว แต่จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ที่เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs เป็นการเสียชีวิตของคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ดังนั้นโรคนี้ไม่ใช่โรคคนแก่
- นึกว่าเกิดเฉพาะกับพวกคนรวย มีอันจะกิน แต่ความจริง ทุกคนมีสิทธิ์เป็นทั้งนั้น ไม่แบ่งแยกคนรวยหรือจน โดยพบว่า 4 ใน 5 ของประชากร ที่เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs มักเกิดในประเทศที่มีฐานะยากจน เพราะมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า เช่น สูบบุหรี่ กินเหล้ามากกว่า ไม่ค่อยกินผัก ผลไม้ ไม่ค่อยดูแลตัวเอง
- ความเชื่อที่ว่า มันขึ้นอยู่กับดวง หรือเวรกรรม แต่ความจริงคือ เกิดจากพฤติกรรมที่เราปฏิบัติเป็นประจำ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย ความเครียด และขาดการดูแลตัวเองในรูปแบบต่างๆ
.
ครอบครัวสุจารีรัตน์ (คุณเจน และคุณ สุพิเชษฐ์ สุจารีรัตน์)
ครั้งนี้มีดารารับเชิญคือ คุณปุ๊กกี้ ชุลีพร ดวงรัตนตรัย ที่ห่างหายไปเพราะกลุ่มโรค NCDs นี้เอง ทั้งเบาหวาน ความดัน ไตวาย จึงมาแชร์ประสบการณ์ การดูแลตัวเอง ให้กับครอบครัว สุจารีรัตน์
โดยคุณปุ๊กกี้เล่าให้ฟังว่า ตนเองเริ่มเป็นเบาหวานตอนอายุ 24 – 25 ปี จากพันธุกรรม ชอบกินทุกอย่างทั้ง ของหวาน ของมัน แป้ง ช็อคโกแลต พอไปถ่ายละครเรื่องสุดท้ายไม่ได้ เพราะตอนขึ้นบันได มันหมดแรง อยู่ๆมันก็เดินไม่ไหว เลยรู้ว่าตัวเองเป็นโรคไตแล้ว ตัวบวมมากๆ ก่อนหน้านั้น เบาหวานขึ้นตา ตามัว มองไม่ชัด มันก็ลามไปหูข้างซ้าย หูดับไปเลย ทุกวันนี้ต้องไปฟอกเลือด สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 4 ชม. (ชี้ให้ดูรูเข็มที่แขน ให้ลองจับดู มีการผ่าตัดเส้นเลือดที่แขนสำหรับฟอกไต จับแล้วจะรู้สึกเหมือนมีเส้นเลือดมันดิ้นๆ กระตุกๆด้วย)
คุณเจน : ตอนฟังหมอพูด ก็แค่ อือๆ เฉยๆ มันจริงหรือป่าวน้า? แต่พอฟังคุณปุ๊กกี้แล้วมันน่ากลัวมาก กลัวว่าเราจะเป็นเหมือนเขา คุณปุ๊กกี้ : กินมาก ก็อ้วน พออ้วนแล้ว ก็เป็นเบาหวาน เป็นเบาหวานแล้ว ก็เป็นความดัน เป็นควาดัน ต่อมาก็เป็นไต มันตามกันมาแน่นอน เหลืออยู่โรคเดียวคือ โรคหัวใจ ที่ยังไม่เป็น ตอนนี้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินใหม่หมด เรียกว่าเห็นโรงศพแล้วหลั่งน้ำตา
มาลองเปิดตู้เสบียงอาหารของครอบครัวนี้กัน โอ้วโห ตุนไว้เป็นปีเลยมั๊งเนี่ยะ เยอะมาก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง ช็อคโกแลต ขนมเพียบ ไส้กรอก ฟาสฟู้ด แหนม ฯลฯ (นี่เอาออกไปเยอะแล้วนะ) คุณปุ๊กกี้เลยแนะนำว่า ไม่ต้องตุนของพวกนี้ เปลี่ยนเป็นผัก และผลไม้สดๆแทน
ปุ๊กกี้ : เวลาไปซื้อส้มตำก็บอกว่า ไม่ใส่น้ำปลา ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่อะไรเลย แม่ค้าก็มองหน้า แล้วถามต่อว่า มีออกกำลังกายบ้างมั้ยคะ คุณเจน : ก็เลี้ยงลูกอยู่ทุกวันน่ะค่ะ ปุ๊กกี้ : ฮึ๊ย...เลี้ยงลูกนี่เป็นการออกกำลังกายด้วยหรอคะ คุณเจน : แต่มันเหนื่อยนะพี่ ปุ๊กกี้ : ออกกำลังกายไม่ใช่การออกกำลังกายนะ หัวใจไม่ได้เพิ่มการสูบฉีดอะไรเลยอ่ะ คุณเจน : เหนื่อยทั้งใจ หัวใจเต้นแรงนะ ร่างกายก็เหนื่อย ปุ๊กกี้ : ยังงี้เห็นผู้ชายหล่อๆ หัวใจเต้นแรง ก็ถือว่าออกกำลังกายน่ะสิ
พอพากันไปดูพื้นที่หน้าบ้าน โอ้โห กว้างมาก ทั้งสองตอบทันควันว่า ก็กลับบ้านดึก ทุ่มสองทุ่ม ก็ไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย เหนื่อยด้วย อยากพักผ่อนมากกว่า
เอาล่ะ วันนี้เริ่มกันเลยละกัน วิ่งหน้าบ้าน “อ้าว ฝนจะตกแล้วอ่ะ” “เฮ้ย ก็วิ่งฝ่าฝนดิ” รองเท้าวิ่งที่เก็บเก่าไว้ ก็พากันเสียกันหมด กางเกงออกกำลังกายก็ยางยืดหมดแล้ว แต่ยังไงก็ตั้งใจไว้แล้ว ทั้งสองก็ออกวิ่งหน้าบ้านด้วยกันกับลูกๆ อย่างสนุกสนาน
.
คุณ ปัญจพล เพชรเกษม (มิ้ว) อายุ 29 ปี
มีคุณนพพร ศิลาภรัตพงศ์ อายุ 46 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เบาหวานจากคุณแม่ สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติมากว่า 5 ปี ได้แนะนำการกินอาหารดังนี้
1. จำกัดปริมาณน้ำตาล เช่น ชาเขียว เลือกแบบที่ไม่มีน้ำตาล กาแฟแบบไม่ใส่น้ำตาล (admin : จริงๆ น้ำเปล่านี่แหละดีที่สุด)
ตัดไปฉากตอนไปซื้อกาแฟเย็น "เอาอเมริกาโน่ ไม่ใส่น้ำตาบคับ" ได้มาแระ ดูดปุ๊บ โอ้วโห แหวะ ขมมาก ไม่ไหวมั๊ง เอาแบบใส่น้อยๆลงดีกว่า
2. กินข้าวกล้อง ผสมธัญพืช ทานเยอะก็ไม่ได้นะ ไม่เกินวันละ 4 ทัพพี
3. เคี้ยวอาหารให้ช้าลง เคี้ยวเยอะๆ คำละ 40-50 ครั้ง มันจะทำให้สมองส่งสัญญาณให้อิ่มได้ทัน ถ้าเคี้ยวเร็ว สมองนึกว่ายังหิวอยู่ เลยยังไม่สั่งให้อิ่มซะที
4. เลี่ยงของหวาน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้กินแค่ 2-3 คำก็พอ “ก็ดีนะเป็นการฝึกห้ามใจตัวเองดี”
5. เลือกกินแต่ผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เราก็ไปหาข้อมูลมาก่อนว่า มีผลไม้อะไรบ้าง ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง แต่ก็ไม่ใช่กินที 4-5 ลูกนะ ลูกเดียวก็อิ่มแล้ว แอ๊ปเปิ้ล ชมพู่ ถ้าจะกินผลไม้ที่น้ำตาลเยอะหน่อย อย่างกล้วยก็กินได้ แต่กินคำสองคำก็พอ กากใยจากผลไม้ จะช่วยให้อิ่มง่าย
6. ลดมัน ลดเค็ม และงดผงชูรส ถ้าเราทานโซเดียมเยอะ ไตก็ทำงานหนัก เช่นพวกขนมขบเคี้ยว ผงชูรส น้ำปลา ให้ไปคุยกับคนที่บ้านที่ทำกับข้าวให้ ทำความเข้าใจกับเขา พอคุยปุ๊บแม่บ้านที่ทำกับข้าวก็เถียงว่า ผงชูรส กับผงปรุงรส มันไม่เหมือนกันนะ ห้ามใส่ผงชูรสใช่มั้ย แปลว่าใส่ผงปรุงรสได้ (จริงๆแล้ว ผงปรุงรส ก็คือผงชูรสนั่นแหละ)
7. ทำอาหารจากบ้าน ใส่กล่องไปกินที่ทำงาน เพราะอาหารที่เราทำเองเราจะควบคุมได้ ไม่ต้องโดนแม่ค้าด่าด้วย
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณนพพรสอนท่าโยคะ ท่าที่สอนคือ เอาแขนยกขึ้นเหยียดตรงแนบหู ตัวตรง แล้วค่อยๆเอียง จนสุดๆ แต่ก็ร้องโอดโอย “ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวจริงๆ ขอปั่นจักรยานดีกว่า”
9. สั่งอาหารให้เป็น แล้วพาไปฝึกสั่งอาหาร “เอาเส้นหมี่น้ำคับ ไม่ใส่น้ำปลา ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่น้ำมัน ” ดูอายๆนะนั่น ก็ต้องรู้จักการสั่งอาหารให้ไม่ถูกด่าด้วย ไม่ใช่ไปถึงก็สั่งๆๆ ก็ต้องค่อยๆพูด “เอ่อพี่ค้าบบ ไม่ใส่ผงชูรสนะค้าบ”
ภาพตัดมาอีกวันนึง สั่งกะเพราไก่ไข่ดาว โดนแม่ค้าบ่นเลย “ไม่ใส่อะไรเลย แล้วจะอร่อยไม่เนี่ยะ” แถมประชดซะเสียงดังเลย สั่งให้คนทำทำไป ท่าทางโมโหด้วย “ไม่เป็นไรค้าบ ผมกินได้คับ” เสียงอ่อยๆ (แอดมิน : เรื่องนี้เรื่องใหญ่เลยนะเนี่ยะ ในคลิปนี่ ถูกแม่ค้าประชดประชันน่าดูเลย ด่านนี้ท่าทางจะผ่านยาก ถึงบอกให้ทำอาหารจากบ้านไปกินไง ต้องใช้แรงใจน่าดู)
.
คุณวีรานันท์ แต้ภิรมย์รัตน์ (ส้มโอ) อายุ 25 ปี
มีนักร้องมืออาชีพอย่าง คุณพัดชา เอนกอายุวัฒน์ (พัดชา AF2) ที่เคยอ้วนกว่านี้มาก่อน ตอนเข้าบ้าน AF น้ำหนัก 50 กิโลกรัม พอแข่งเสร็จ 3 เดือน น้ำหนักขึ้นเป็น 60 กิโลกรัม แต่ก็ทำเพื่อความฝัน จึงพยายามเปลี่ยนแปลง ส้มโอเล่าว่า เคยไปออดิชั่น แต่ก็ไม่ได้ เพราะอ้วน (ร้องไห้) เราก็พยายามลด แต่ก็ทำไม่ได้ แต่การที่คุณพัดชามาช่วยแนะนำน้องส้มโอ ถือว่าเป็นการกระตุ้นความฝันได้ แม้จะไม่ได้แนะนำการปฏิบัติอย่างละเอียดเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ตั้งใจไม่ย่อท้อได้
แล้วก็แนะนำอาหารให้กินพวก สลัด ผักสลัด มะเขือเทศ แครอท บล็อคโคลี่ พริกยักษ์ ปลา ผลไม้ไม่ต้องกินพริกกับเกลือ ฝรั่ง แก้วมังกร
“ต่อไปนี้ มันเป็นโอกาส ไม่ใช่ศูนย์แล้ว มันเป็นก้าวแรกแล้วนะ”
.
ความเข้าใจกลุ่มโรค NCDs ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่จะปรับทางเดินสายสุขภาพ ของอาสาสมัครทั้ง6 และกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนการจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น และความรักที่มากพอ
.