NCDs Reality ตอนที่9 : กรรมจากบุหรี่
ครั้งที่แล้ว NCDs Reality ตอนที่8 ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทของคนสำคัญที่ช่วยสร้างกำลังใจ มาคลิปนี้ เป็นเรื่องของ กรรมจากบุหรี่ ที่หลายคนไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรค NCDs และโรคที่ตามมามากกว่า 25 ชนิด ไม่ใช่แค่ มะเร็งปอด หรือถุงลมโป่งพอง และไม่ใช่แค่ตัวเราเองที่ได้รับ แต่รวมถึงคนรอบข้างที่เรารักอีกด้วย เราไปดูวิธีการเลิกบุหรี่จากอาสาสมัครทั้ง 4 กันเลยค่ะ
สรุป NCDs Reality ตอนที่9 : กรรมจากบุหรี่
(ถอดความให้สำหรับคนที่ไม่มีเวลาดูคลิป 50 นาที หรือดูคลิปไม่ได้นะคะ)
ข้อความบน Line เปิดรายการ
“เครียดจัง ทำยังไงดี”
“เรื่องอะไรหรอ”
“ก็เรื่องนู่น เรื่องนี่ เต็มไปหมด สมองจะแตกอยู่แล้วเนี่ยะ”
“แล้วเธอทำยังไง”
“ไม่รู้จะทำยังไง วันหนึ่งสูบบุหรี่หมดซอง ยังไม่หายเลย”
“สูบบุหรี่ ช่วยได้เหรอ”
“ช่วยไม่ได้หรอก ก็ยังเครียดอยู่”
“รู้หรือเปล่าว่าบุหรี่มันไม่ดี”
“รู้ เปลือง เหม็น”
“มันก็ใช่ แต่มันยังมีอะไรที่น่ากลัวกว่านั้นเยอะ”
.
ความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่ กับกลุ่มโรค NCDs
- บุหรี่กับไขมัน : การสูบบุหรี่ จะลดการสร้างไขมันดี แต่เพิ่มไขมันเลว ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดตีบ และโรคความดันโลหิตสูง
- บุหรี่กับปอด : สารพิษในบุหรี่ จะค่อยๆทำลายเยื่อบุหลอดลม และถุงลมปอดทีละน้อย จนทำให้ถุงลมปอดพิการ คือสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ ทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อยง่าย และเกิดโรคติดเชื้อที่ปอด
- บุหรี่กับโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ : สารนิโคตินในบุหรี่จะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว บีบตัวแรงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ที่สำคัญคือ สารพิษในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดในสมองและหัวใจ หดแคบลง และยังทำให้เกร็ดเลือดก่อตัว จนอุดตันหลอดเลือดง่ายขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการแตกของหลอดเหลือดที่หัวใจ และสมอง
- บุหรี่กับน้ำตาล : การสูบบุหรี่จะลดประสิทธิภาพของอินซูลิน (อินซูลินเป็นฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) จึงเกิดโรคเบาหวานได้ ส่วนผู้ที่เป็นอยู่แล้วก็จะทำให้อาการแย่ลง และมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย ตามัว ไตเสื่อมสภาพ แผลหายช้า
- บุหรี่กับมะเร็ง : ทาร์ เป็นสารที่น่ากลัวในบุหรี่ เมื่อสูบเข้าไปจะรวมตัวเป็นสารเหนียวที่ติดกับเนื้อปอด และมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง
เทคนิคการเลิกบุหรี่
- ทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว จะช่วยลดความอยากบุหรี่ได้
- เคี้ยวหมากฝรั่งให้ปากไม่ว่าง
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น
- ต้องใจแข็ง เอาชนะความเคยชินให้ได้
- โทร 1600 สายด่วนเลิกบุหรี่ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกฟ้าใส เขาให้บริการฟรี
.
“การเลิกบุหรี่ต้องอาศัยกำลังใจ และความรักที่มากพอ”
.
จ.ส.อ.ศาทิพ จิตร์แน่น อายุ 36 ปี
สูบบุหรี่มาตั้งแต่เรียน ม.3 ปัจจุบันสูบวันละเกือบ 2 ซอง ส่วนใหญ่มันเป็นความเคยชินมากกว่า แต่ที่บ่อยเลยคืือ ตอนอยู่กับเพื่อน เห็นเพื่อนสูบเลยขอเพื่อนสูบบ้าง
ผู้เชี่ยวชาญให้ตั้งวันที่จะหยุดก่อน แล้วในช่วง 1 สัปดาห์แรก จะรู้สึกว่ามีเสมหะเยอะขึ้น เพราะปอด และหลอดลม จะเริ่มกลับมาทำงานได้ดีขึ้น มันเลยจะขับเสมหะที่คั่งค้างให้ออกมา
อาการเมื่อเริ่มเลิกบุหรี่ จะรู้สึกหงุดหงิด และอยากสูบบหรี่ตลอดเวลา ผู้เชี่ยวชาญเลยแนะนำให้ครอบครัวเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด
ภรรยาให้สัมภาษณ์ว่า ก็เห็นผลัดไปเรื่อยว่าจะเลิกๆ แต่ก็ยังเห็นสูบอยู่ แต่ก็สูบน้อยลงนะ ที่เลิกไม่ได้เพราะอยู่กับเพื่อน เห็นคนอื่นสูบ ก็อยากสูบบ้าง เลยต้องพยายามชวนขึ้นห้องไวๆ เขาจะได้ไม่เจอเพื่อน ไม่คิดอยากสูบบุหรี่ เวลาเก็บซองบุหรี่ก็จะมาซุกๆไว้ไม่ให้เราเห็น แต่พอเราได้ยินเสียงกรอบแกรบเหมือนเสียซองบุหรี่ ก็จะแอบมาดู แล้วบ่น “เฮ้ย จะสูบอะไรนักหนาเนี่ย เหม็นเว้ย” เขาก็จะโยนทิ้ง “ไม่สูบก็ได้” แล้วเข้าห้องน้ำอาบน้ำเลย (ต้องให้ภรรยาดุ แล้วจะได้ดีเพราะภรรยา)
ตอนนี้คุณศาทิพเริ่มรู้สึกว่ามีภาระที่หนักเกินไปที่ ต้องทั้งลดน้ำหนัก ทั้งเลิกเหล้า และทั้งเลิกบุหรี่ ก็เลยคิดว่าจะยังไม่เลิกในทันที แต่จะค่อยๆลดลง และตั้งใจกำหนดวันเลิกไว้วันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก คือจะเลิกเด็ดขาดเลย ไม่แตะอีกแล้ว เพื่อสุขภาพที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกชาย
.
คุณ ปัญจพล เพชรเกษม (มิ้ว) อายุ 29 ปี เป็นเบาหวาน
เริ่มสูบมาตั้งแต่ตอนเกือบจบมหาวิทยาลัยตอนปี4 ก็ประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นอย่างหนักสุดสูบวันละเกือบซอง
พยาบาลถามว่าวันนี้มีใครบังคับมารึป่าว หรือตั้งใจมาเอง คุณปัญจพล ตอบว่า ไม่มีใครบังคับ เพราะเมื่อก่อนเคยคิดจะเลิก นึกว่ามันจะเลิกง่ายๆ เลยเลิกเอง แต่ก็เลิกไม่ได้ ทะเลาะกับแฟนอีก เลยแอบสูบ พออยู่กับแฟนก็ไม่สูบได้ แต่พอไม่ได้อยู่ด้วยก็ทำใจไม่ได้เลยต้องสูบ
แฟนคุณปัญจพล ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ก็ไม่รู้ว่าสูบ แต่ก็สงสัยว่าทำไมในรถมีไฟแช็คเยอะมาก มองไปทางไหนก็เจอไฟแช็ค พอเปิดที่เก็บของข้างคนขับก็เห็นซองบุหรี่ เลยรู้ แต่ก่อนหน้านี้ที่เวลามารับก็จะได้กลิ่นน้ำหอมแรงมาก บางทีเขาก็จะโกหก พอเซ้าซี้มากๆ ก็จะยอมรับ เลยบอกตรงๆว่า เรารู้สึกเบื่อและท้อมาก มันไม่ใช่ตัวเราที่ได้รับ แต่เป็นห่วงตัวเขาเอง เราได้แค่เตือน ได้แค่บอก จะเลิกได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับเขาเอง
องค์ประกอบของการติดบุหรี่มี 3 องค์ประกอบ
- ติดสารนิโคติน
- ติดทางพฤติกรรม
- ติดทางสังคม
คุณปัญจพล อยู่ในกลุ่มติดสารนิโคติน ในระดับกลาง คือ ไม่สูบก็ได้ แต่ก็ยังสูบอยู่ เพราะการทำงาน เจอคนรอบข้างที่สูบ แล้วห้ามใจตัวเองไม่ได้
พฤติกรรมบำบัดการติดบุหรี่ 5 D
- Deep Breath หายใจลึกๆ แล้วไปคิดเรื่องอื่น
- Drink Water ดื่มน้ำ
- Delay ผลัด อย่าสูบทันทีในเวลาที่อยากสูบ ถ้าหลุดช่วงที่อยากไปแล้วมันก็ไม่อยาก
- Do Somthing Else หาสิ่งอื่นทำ ไม่ให้เราว่าง
- Destination พูดคุยกับคนที่ช่วยเราได้ และคิดถึงผลดีของการเลิกสูบบุหรี่ คุณปัญจพลมักรีบคุยกับแฟน บอกว่าไม่ไหวแล้ว อยากสูบ แฟนก็พูดให้ฟัง ว่าอุตส่าห์ทำมาขนาดนี้แล้ว ถ้ากลับไปทำอีก ที่ทำมาก็เสียเวลาเปล่า มันก็ทำให้เรารู้สึกดี
ผมก็คิดว่านอกจากเรื่องสุขภาพ และครอบครัวที่เรารักแล้ว อาชีพผมมันต้องทำงานกับเด็ก เด็็กก็เห็นเราเหมือนฮีโร่ ถ้ามาเห็นเราสูบบุหรี่ก็รู้สึกแย่
ปัจจุบันหยุดสูบมาแล้ว 2 เดือนกว่า เข้ารับคำปรึกษาเป็นประจำ แล้วเล่าให้หมอฟังว่า หมอเคยบอกว่าอย่าไปมองบุหรี่ แต่ผมเลยทำตรงกันข้าม คือต้องเอาบุหรี่วางไว้ตรงหน้า เพราะอาชีพต้องเห็นบุหรี่ตลอดเวลา แล้วก็ฉีกบุหรี่ทิ้งต่อหน้าแฟนเลย
.
คุณ วัฒนชัย ลิ้มสวัสดิ์ (อุ้ย) อายุ 28 ปี
ภรรยาคุณวัฒนชัย ให้สัมภาษณ์ว่า เคยขอให้เขาเลิกสูบ แต่ก็บอกว่า เดี๋ยวเดือนหน้าค่อยเลิก ผลัดมาเรื่อยจนกลายเป็นปีๆแล้ว เลยรอให้เขาตั้งใจอยากเลิกจริงๆก่อน แล้วค่อยช่วย เพราะถ้าเขายังไม่คิดจริงจัง ช่วยไปก็เสียเวลา พอรู้ว่าเขาเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน ก็รู้สึกเฉยๆนะ เพราะเขาไม่ได้ตื่นเต้นอะไร แล้วเราจะไปตื่นเต้นทำไม
หมออธิบายว่า บุหรี่มันทำให้น้ำตาลในเลือดมันสูงขึ้น เบาหวานที่เป็นอยู่ก็ขึ้น บุหรี่ก็เป็นยาเสพติดตัวหนึ่ง เหมือนโรคสมองติดยา คือต้องเจอสิ่งกระตุ้น เวลาอยู่บ้านไม่สูบก็อยู่ได้ ดังนั้นถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เราก็จะเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้สนใจ ไม่ได้โหยหา ไม่ได้มีอิทธิพลอะไร แต่พอมาเจอสิ่งกระตุ้น เห็นคนสูบ ก็อยากสูบตาม หรือเจอสถานที่ที่เคยสูบ ก็รู้สึกอยากสูบ มันไม่ใช่สมองสั่งให้ทำ แต่มันเจอสิ่งกระตุ้น สั่งให้สมองต้องทำ ร่างกายเราก็ต้องทำตาลสมอง วิธีการรักษาก็คือ การใช้ยา หรือพฤติกรรมบำบัด
คุณวัฒนชัย สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 14 ปี ครั้งนี้ตั้งใจอยากเลิกจริงๆ มันถึงเวลาแล้วจริงๆ ผมว่าคนติดบุหรี่ส่วนใหญ่เลย อยากเลิกทั้งนั้น แต่มีน้อยคนที่จะเลิกได้ และคนที่เลิกได้เขาต้องใช้ใจเลิกทั้งนั้น พอผมกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ร่วมวงกินเหล้ากันกับเพื่อนที่สุบบุหรี่มาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนนี้ผมสูบ แต่มันไม่สูบ ทำไมเราเลิกไมได้ เลยคิดว่าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้
พฤติกรรมบำบัดที่หมอแนะนำก็งัดมาใช้หมด ทั้งหายใจเข้าลึกๆมันก็ช่วยได้ ให้หยุดคิด ดื่มน้ำก็ทำให้เรารู้สึกอิ่ม ทำให้ตัวเองยุ่งๆเข้าไป หรือไปทำอย่างอื่น หยิบโทรศัพย์มาฟังเพลงที่ชอบ แล้วก็หาเพื่อนคุย แต่ที่สำคัญคือผมต้องใช้ใจสู้มากๆ ผมคิดถึงแต่ครอบครัว เพราะอยู่กับพ่อ แม่ แฟน ทำกับข้าวอยู่ด้วยกัน เลยไม่อยากสูบ 3 วัน ก็ลืมไปเลยว่าเราไม่ได้สูบ แต่หมอบอกว่า ต้องใช้เวลา 1 ปี ในการเลิกสูบบุหรี่ ถ้าแค่ 2-3 เดือน เดี๋ยวก็กลับไปสูบใหม่ ครอบครัวผมไม่มีใครสูบบุหรี่เลย ผมเริ่มเอง ก็ต้องจบมันให้ได้เอง
.
คุณ ภูริวัจน์ ธรรมอัครวิทย์ (นัท) อายุ 34 ปี
เริ่มสูบตั้งแต่อายุ 20 ปี เมื่อก่อนสูบวันละ 1 ซอง แล้วก็ลดลงเหลือ วันละ 10 มวน แต่หลังๆมานี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละซองแล้ว
จากการประเมินพบว่า คุณภูริวัจน์อยู่ในกลุ่มติดนิโคตินระดับสูง หมอถามว่ารู้มั้ยว่าบุหรี่ก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง คุณภูริวัจน์ที่เคยไปพบอาม่าสมศรีมาแล้ว ที่ต้องตัดกล่องเสียงไปแม้ว่าไม่ได้สูบ แต่ได้รับควันจากสามี เลยตอบว่า โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด
หมอเลยเสริมว่าจริงๆแล้ว บุหรี่ก่อให้เกิดโรคได้ ไม่ต่ำกว่า 25 โรค ไม่ใช่แค่ 3 โรคที่บอกมา เวลาสูบบุหรี่ไม่ใช่แค่ได้ควันบุหรี่ แต่เราได้นิโคติน และสารพิษ 3000 กว่าชนิด ควัน
ควันบุหรี่ 3 ต่อ
- บุหรี่มีมือหนึ่ง คือ ตัวเราดูดเข้าไป
- ควันบุหรี่มือสอง คือ ควันที่เราพ่นออกมา ภรรยา ครอบครัว ลูก ก็ได้รับไปด้วย
- บุหรี่มือที่สาม คือ นิโคตินที่ติดตามเสื้อผ้า ดังนั้นคนสูบบุหรี่ในบ้าน กับสูบนอกบ้าน ผลก็ไม่ต่างกัน ถ้าในอนาคตมีลูก เวลาอุ้มลูก ลูกก็จะได้รับนิโคติดที่อยู่บนเสื้อเราด้วย
คุณภูริวัจน์จึงถือโอกาสถามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า คุณหมอเลยให้ความกระจ่างว่า นอกจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้วยังมี บารากุด้วยที่เป็นความเข้าใจผิด คำว่าบารากุคือ การสูบบุหรี่ผ่านน้ำ คิดว่าน้ำจะช่วยกรองสารพิษและควันได้ แต่จริงๆแล้ว สารบางตัวมันละลายน้ำได้ และระเหิดได้ สุดท้ายเราก็ยังได้รับสารนั้นเข้าไปอยู่ดี
ก่อนอื่นคือต้องมากกำหนดวันก่อน ว่าเราอยากเลิกเด็ดขาดจริงๆวันไหน (ต้องให้เขาเป็นคนพูดออกมาเอง) คุณภูริวัจน์ ตอบว่าอยากเลิกวันที่ 12 เมษายน (วันเสาร์ที่จะถึงนี้)
ก็ใช้ทุกวิธีที่หมอแนะนำเลย ทั้งหายใจลึกๆ ดื่มน้ำ ออกกำลังกาย ให้ภรรยาช่วยให้กำลังใจ บางทีก็ใช้น้ำยาบ้วนปาก ทุกวันนี้อะไรๆก็ดีขึ้น ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา แค่เลิกสูบบุหรี่นะ ถ้าเลิกดื่มเหล้าได้จะดีมาก แฟนก็ชมว่าตั้งแต่เลิกสูบบุหรี่ ก็ดูหน้าตาสดใสขึ้น ดูมีกล้ามเนื้อ หล่อ ดูสุขภาพดีขึ้น
ผมคิดว่า อยากอยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ มีครอบครัวอบอุ่น ก็ควรเลิกสิ่งที่ไม่ดีมาตั้งนานแล้ว แต่การเลิกสูบบุหรี่มันก็ยาก แต่ถ้าเราเลิกได้แล้ว ต้องไม่กลับไปหามันอีก ผมชนะมันแบบฉลาดด้วย ชนะแบบเข้าใจมัน รู้จักมัน แล้วก็ขอบคุณมันที่ทำให้เราชนะใจตัวเองได้
.
คุณวีรานันท์ แต้ภิรมย์รัตน์ (ส้มโอ) อายุ 25 ปี
แม้ว่าไม่ได้สูบหรี่ แต่มักมีความเครียดกับงาน เลยแนะนำให้ หายใจแบบปล่อยสบายๆ ไม่ต้องตั้งใจมาก หายใจให้ยาวกว่าปกติ หายใจออกให้ยาวกว่าหายใจเข้า 2 เท่า เวลาที่หายใจให้ยาว ถ้าเราวางความรู้สึกกับความเคลื่อนไหวของช่องท้องได้ ให้มันเคลื่อนไหวขึ้นลงตามจังหวะการหายใจเข้าออก ถ้าหายใจไปได้ 10 ครั้ง จะรู้สึกได้ว่า จิตใจจะสงบลง ลดความเครียดได้
คุณวีรานันท์ ได้เข้าใจเรื่องที่สำคัญอีกอย่างคือ ต่อให้เรามีเงินมากแค่ไหน แต่สุขภาพเราแย่ เราก็ไม่มีทางมีความสุข
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวไว้ว่า โรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกิน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดโดยไปใช้บุหรี่หรือสุรา ดังนั้นการฝึกทักษาเหล่านี้ ในการจัดการความเครียด หรือการทำอะไรให้ช้าลงสักนิดนึง ก็จะมีความสุขมากขึ้น ถ้าเรามองความสงบภายในใจ หรืออารมณ์ที่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
.
คุณเจน (ภรรยา) และคุณ สุพิเชษฐ์ สุจารีรัตน์(สามี) อายุ 33 ปี
โชคดีที่ไม่มีปัญหาเรื่องดื่มเหล้าสูบบุหรี่ วันนี้จึงมาอัพเดทสุขภาพให้ฟัง
- จากเดิมคุณสุพิเชษฐ์ น้ำหนัก 104 กิโลกรัม ตอนนี้ลดเหลือ 86-87 กิโลกรัม
- จากเดิมคุณเจน น้ำหนัก 95 กิโลกรัม ตอนนี้ลดเหลือ 78 กิโลกรัม
การเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหาร
- อาหารที่เปลี่ยนแปลงคือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ทานในปริมาณที่เหมาะสม ถูกเวลามากขึ้น
- อาหารที่โชว์กินก็เป็นข้าว ผักลวก และผลไม้ (แต่แอดมินแปลกใจที่ทำไมไม่มีโปรตีนเลย)
- ตัดน้ำหวาน ตัดน้ำอัดลม และออกกำลังกาย แต่ก่อนก็บอกว่าตัวเองไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่เดี๋ยวนี้ก็พยายามเจียดเวลา จริงๆถ้าจัดดีๆก็มีเวลาได้นะ บางทีก็เกี่ยงกันด้วยว่าให้เธอดูลูกสิ เดี๋ยวชั้นจะไปออกกำลังกาย ถ้าวันไหนไม่ได้ออกกำลังกายก็จะรู้สึกแปลกๆ เหมือนขาดอะไรไป
วันนี้เป็นวันคืนความภาคภูมิใจ โดยทีมงานไปขนเสื้อผ้าเก่าๆ ของทั้งคู่ที่ไม่ได้ใส่ มาให้ลองใส่ ปรากฏว่าลูกๆมองแบบ จำพ่อกับแม่ไม่ได้ แล้วก็บอกว่าป๊ากับมี๊ผอมลง แล้วถามว่าลูกๆชอบแบบไหนมากกว่ากัน ลูกๆก็ชี้ไปที่รูปตอนปัจจุบัน ที่ผอมกว่าเมื่อก่อน แล้วก็ชมว่าป่าป๊าหล่อ หม่ามี๊สวย เหมือนเจ้าชายเจ้าหญิงเลย (แหมใครเป็นพ่อเป็นแม่ ได้ยินลูกพูดแบบนี้ คงปลื้ม ไม่กลับไปอ้วนอีกแน่นอน)
ทั้งหล่อทั้งสวยขึ้น กางเกงยีนส์ ที่ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ ก็ไม่กล้าทิ้งเสียดาย แต่ตอนนี้เอามาใส่ได้หมดแล้ว ดูเป็นครอบครัวที่ร่าเริง สนุกสนาน น่ารักมากๆ
“คือเป้าหมายตอนที่อยากสมัครเข้าร่วมรายการคือ อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่กับลูกๆไปนานๆ แต่ตอนนี้นอกจากได้สุขภาพอย่างที่ตั้งใจแล้ว ยังได้เป็นตัวอย่างให้ลูกๆทั้ง 3 คนได้ด้วย”