HIIT ฟิตสุดๆ เผาผลาญมากขึ้นแต่ใช้เวลาน้อยลง
ความลับการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ให้เผาผลาญได้มากขึ้น สามารถใช้เทคนิคนี้ในยามที่มีเวลาน้อยก็ได้ แต่ควรจะใช้สำหรับคนที่มีพื้นฐานการออกกำลังกายมาบ้างแล้ว ไม่ใช่มือใหม่หัดวิ่ง เพราะเดี๋ยวจะบาดเจ็บเป็นลมซะก่อน เทคนิคนี้มีชื่อว่า HIIT (High Intensity Interval Training)
ก่อนอื่นต้องบอกว่า HIIT เป็นการคาร์ดิโอที่ได้ผลดีก็จริง แต่ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับทุกคน ถ้าคุณเป็นมือใหม่ ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน ให้ออกกำลังกายเบาๆไปก่อน และหากมีปัญหาสุขภาพ หรือมีโรคเกี่ยวกับหัวใจ เพื่อให้แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดีกว่า ห้ามใช้เทคนิคนี้โดยพละการเด็ดขาด
ขอปูพื้นฐานเพื่อความเข้าใจตรงกันก่อน
– แอโรบิค กับ คาร์ดิโอ คืออันเดียวกัน
– แอโรบิค คือออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน ร่างกายออกแรงมากขึ้น ก็ต้องการออกซิเจนเลี้ยงกล้ามเนื้อเยอะขึ้น
– แอนแอโรบิค คือออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน เมื่อต้องใช้แรงฮึด วิ่งจนสุดแรงเกิด ออกซิเจนมาเลี้ยงไม่ทัน จึงต้องอาศัยกระบวนการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนมาช่วย แต่จะได้แค่อึดใจเดียว
หลักการของ HIIT ก็คือ
- เป็นการออกกำลังกายแบบ เข้มข้นมากสลับกับเข้มข้นปานกลาง
- เพราะถ้าออกกำลังกายแบบเข้มข้น ออกแรงสุดแรงตลอดเวลาก็คงทำได้ไม่กี่นาที แต่ถ้าออกแรงสุดแรงแค่ 1 นาที แล้วลดความแรงให้เหลือระดับปานกลาง ก็เหมือนเป็นการพัก แต่การเผาผลาญไม่ตก ให้พร้อมออกแรงสุดแรงอีกในรอบถัดไป
- ทำแบบนี้จะช่วยให้ทั้งออกกำลังกายได้นาน ไม่เหนื่อย แต่กลับได้การเผาผลาญเพิ่มขึ้น เป็นการฝึกความทนทาน ทำให้การออกกำลังกายในครั้งถัดๆไป ทำได้นานขึ้นด้วย
- ยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อไปในตัว ทำให้ลดการสูญเสียกล้ามเนื้อได้ และแน่นอนว่าช่วยลดไขมมัน ลดน้ำหนักแน่นอน
- การจะใช้เทคนิค HIIT ควรใช้สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว คือถ้าคุณเป็นคนที่วิ่งได้ 20-30 นาที ในความเข้มข้น 70-85% ของ Heart Rate โดยไม่เหนื่อยมากและไม่มีปัญหาอะไร หรือเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว ก็สามารถใช้เทคนิค HIIT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคุณต่อไปได้เลย
- แต่ถ้าคุณไม่เคยออกกำลังกายอะไรมาก่อนเลย หรือแค่วิ่งเร็วๆ10-20 นาที ก็เหนื่อยหอบจะไม่ไหวอยู่แล้ว แบบนี้อย่าเพิ่งใช้เทคนิค HIIT เลย ฝึกฝนให้เก่งขึ้นกว่านี้ก่อนดีกว่า จงคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก
- อย่าลืมวอร์มอัพ และ คูลดาวน์ อย่างน้อย 5 นาทีทุกครั้ง
- ในช่วงออกแรงสุดขีด 1 นาทีนั้น ให้ใส่เต็มที่จริงๆ ถ้าวิ่งก็เหมือนวิ่งหนีหมาไล่กัด ประมาณนั้นเลย ทำให้ร่างกายเข้าสู่ช่วง anaerobic ให้ได้
- ในช่วงออกแรงปานกลาง หรือเรียกว่าช่วงพัก 4-5 นาที ก็สามารถพักน้อยกว่านี้ก็ได้ ถ้าคิดว่าไหวและรู้สึกว่ามันเบาเกินไป
- แต่ถ้ายังรู้สึกเหนื่อยมาก ยังไปต่อในระดับเข้มข้นในรอบถัดไปไม่ไหว ก็สามารถใช้ช่วงพักนานกว่า 4-5 นาทีก็ได้
- อย่าลืมว่าเพื่อให้ได้ผลตามหลักการ ในช่วงพักต้องรักษาระดับความเข้มข้นไม่ให้ตก ให้อยู่ระดับ 60-70% ของ Max Heart Rate
ตัวอย่างโปรแกรม HIIT ใน 8 สัปดาห์
Week | Warm up | ออกแรงเต็มที่ (Max Intensity) |
ออกแรงปานกลาง (60-70%MHR) |
ทำซ้ำ | Cool down | รวมเวลา |
1 | 5 นาที | 1 นาที | 4 นาที | 2ครั้ง | 5 นาที | 20 นาที |
2 | 5 นาที | 1 นาที | 4 นาที | 3ครั้ง | 5 นาที | 25 นาที |
3 | 5 นาที | 1 นาที | 4 นาที | 4ครั้ง | 5 นาที | 30 นาที |
4 | 5 นาที | 1.5 นาที | 4 นาที | 2ครั้ง | 5 นาที | 21 นาที |
5 | 5 นาที | 1.5 นาที | 4 นาที | 3ครั้ง | 5 นาที | 26.5 นาที |
6 | 5 นาที | 1.5 นาที | 4 นาที | 4ครั้ง | 5 นาที | 32 นาที |
7 | 5 นาที | 2 นาที | 5 นาที | 3ครั้ง | 5 นาที | 31 นาที |
8 | 5 นาที | 2 นาที | 5 นาที | 4ครั้ง | 5 นาที | 38 นาที |
หลังจากจบ 8 สัปดาห์ สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มเวลาตามความสามารถได้
แต่ถ้าลองทำแล้ว1สัปดาห์รู้สึกว่ายากไป ให้ฝึกแบบทดลองก่อน เช่น ออกแรงวิ่งเต็มที่ 20 วินาที แล้ววิ่งเหยาะๆ 60 วินาที ทำสลับกันไปเรื่อยๆซัก 15-20 ครั้ง
หรือทำแบบสลับกันไปก็ได้ เช่น ฝึกตามตารางข้างบน 1 วัน ฝึกแบบทดลองเบาๆ 1 วัน ก็ได้
ให้คำนึงถึงความปลอดภัย และความพอดี เป็นสำคัญ รู้ความสามารถของตัวเอง ไหวหรือไม่ไหว อย่าหักโหม เพราะไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบไหนก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น
กลับหน้าแรก ezygodiet.com