อีโบลา

อีโบลา

อีโบลา (Ebola)

     แอดมินเคยได้ยินชื่อ ” อีโบลา ” มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว มันมีมานานมาก เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็เคยได้ยินชื่อนี้เป็นพักๆเหมือนกัน แต่มันก็พัฒนาสายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ จนทำให้ไม่มีหมดไปจากโลกนี้ซักที

     และไม่กี่เดือนมานี้ก็ได้ยินจากข่าว  แต่ก็ไม่ได้สนใจมากนัก เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว  เป็นเชื้อทางแอฟริกา เดี๋ยวก็มีวัคซีนรักษาได้เอง   แต่พอมีข่าวว่าพบคนไทย ในประเทศไทยนี่แหละ  เกิดติดเชื้ออีโบลานี้ขึ้นมา  เราชาวบ้านก็ย่อมต้องรู้สึกว่า มันเข้ามาใกล้ตัวแล้วนะ เลยอยากร่วมเผยแพร่ความรู้  ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้เผยแพร่ สรุปได้ดังนี้

     อีโบลาเป็นเชื้อไวรัส ที่ก่อโรคอีโบลา (EVD)  เดิมเรียกว่าโรคไข้เลือดออกอีโบลา แม้ว่าไวรัสชนิดนี้จะถูกทำลายง่ายๆได้ด้วยความร้อน 60 oC เป็นเวลา 30-60นาที หรือต้มจนเดือดเป็นเวลา 5 นาที หรือใช้แอลกอฮอล์ หรือน้ำยาทำความสะอาดที่มีความเข้มข้นเพียงพอ  แต่การระบาดก็ยังแพร่ไปอย่างรวดเร็ว

     การติดต่อจากคนสู่คน คือ การสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย อวัยวะ น้ำอสุจิ ของคนที่ติดเชื้อโดยตรง  รวมถึงการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อน  และในงานศพก็สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน เพราะมักมีการสัมผัสกับผู้เสียชีวิต  แต่ยังไม่พบการติดเชื้อผ่านละอองอากาศ

     จะปรากฏอาการ หลังจากติดเชื้อ 2-21 วัน   โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน รุนแรง จะรู้สึกอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ เป็นหนักขึ้นก็จะอาเจียน ท้องเสีย มีผื่นนูนแดงตามตัว (คล้ายเป็นไข้เลือดออกเลย)  แต่จะไม่มีการแพร่เชื้อก่อนจะมีไข้  คือต้องเริ่มรู้สึกมีไข้ก่อน ถึงจะแพร่เชื้อได้

     ที่โรคนี้เป็นที่น่ากลัว เพราะมีอัตราการตายสูงถึง 50-90% (เมษายน 2557) และยังไม่มีรักษาที่จำเพาะ หรือวัคซีนป้องกัน ได้แต่รักษาตามอาการไปเรื่อยๆ

     เชื้อไวรัสอีโบลานี้ พบครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 แล้ว ในแถบแอฟริกา เชื่อว่ามาจากลิง และสัตว์ป่าอื่นๆ แต่ต่อมามีหลักฐานว่า มาจากค้างคาวด้วย โดยมีการติดต่อจากสัตว์สู่คน คือการสัมผัสเลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง เช่นการชำแหละซากสัตว์

     วิธีป้องกัน คือระวังการสัมผัสสารคัดหลั่งของคนอื่น ไม่ว่าจากผู้ป่วย หรือศพ  การมีเพศสัมพันธ์ต้องแน่ใจว่าคู่นอนไม่ติดเชื้อ การใช้เข็มฉีดยา  ไม่กินเนื้อสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่รู้สาเหตุ  หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ซากศพสัตว์ โดยเฉพาะพวก ลิง ค้างคาว  ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนจะแคะ แกะ เกา จมูก ขยี้ตา สิว หรือบาดแผลของตัวเอง

สรุป

อีโบลา ไม่ติดต่อทางอากาศ

อีโบลา ไม่ติดต่อจากน้ำดื่มน้ำใช้

อีโบลา ไม่ติดต่อทางอาหาร

     จะเห็นว่า วิธีป้องกันก็ไม่ต่างไปจากโรคระบาดอื่นๆเลย  และแม้ว่าจะไม่มีโรคระบาดแล้ว เราก็ควรยังต้องทำแบบนี้ เพื่อป้องกันโรคอื่นๆด้วย

.

อ้างอิงจาก

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

th.wikipedia.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.