ประโยชน์ของ ถั่วงอก
พืชตระกูลถั่ว เป็นโปรตีนคุณภาพที่ราคาถูก อร่อย ทำง่าย กินง่าย แล้วยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งไฟเบอร์ด้วย ยิ่งถั่วที่เอามาเพาะเป็นต้นอ่อน ที่รู้จักกันว่า “ถั่วงอก” ยิ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นอย่ามองข้ามอาหารพื้นๆอย่าง ถั่วงอก เด็ดขาด
.
ถั่ว ถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนจากพืช ที่มีอยู่มากถึง 16-33% ซึ่งมันสุดยอดตรงที่ มันสามารถทดแทนโปรตีนจากสัตว์ที่มีราคาสูงได้
.
ถั่วยังมีใยอาหารสูงถึง 14-19% รวมถึงคาร์โบไฮเดรต วิตามิน(โฟเลท ไรโบฟลาวิน วิตามินบี6) และแร่ธาตุ (แคลเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม)
.
ถั่วที่คนไทยกินกันมากที่สุดคือ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ทั้งทำเป็นอาหารคาวก็ได้ อาหารหวานก็ดี หรือจะทำเป็นเครื่องดื่มก็มาก
.
ประโยชน์ของถั่วคือ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วน โรคระบบย่อยอาหาร และโรคมะเร็ง
.
เพราะในถั่วจะมีสารพฤกษเคมี ซึ่งเป็นสารเคมีที่พืชผลิตขึ้น เพื่อการป้องกันตัวเองจากโรคและแมลงต่างๆ เช่น ฟีโนลิค , ฟลาโวนอยด์ , แทนนิน
.
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถั่วที่เพาะจนงอกเป็นต้นอ่อนๆ ที่เราเรียกว่า “ถั่วงอก” หรือต่างชาติเรียกว่า “Sprout” ไม่ว่าจะเป็นถั่วชนิดอะไรก็ตาม มันจะมีสารพฤกษเคมีที่มากขึ้นด้วย
.
ถั่วงอกที่เราเห็นในตลาดทั่วไป ได้แก่
ถั่วเขียวงอก (ถั่วงอก)
ถั่วหลืองงอก (ถั่วงอกหัวโต)
เมล็ดทานตะวัน (ต้นอ่อนเมล็ดทานตะวัน)
ถั่วลันเตางอก (โต้วเหมี่ยว)
ส่วน ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วแดง ก็เอามาเพาะเป็นถั่วงอกได้ ลองศึกษาวิธีเพาะถั่วงอกด้วยตัวเอง ทั้งถูก ทั้งไร้สารพิษ ดีต่อสุขภาพ แถมยังสนุกและภูมิใจด้วย
.
พฤกษเคมีที่ว่านี้มันก็คือ สารต้านอนุมูลอิสระ พวกโพลีฟีนอล และวิตามินอี มีงานวิจัยที่บอกว่า ถั่วแดงหลวงมีสารโพลีฟีนอลสูง ซึ่งสามารถยับยั้งมะเร็งได้
.
โดยที่เจ้าสารโพลีฟีนอลนี้ มันจะเข้าไปจับตัวกับสารก่อมะเร็งโดยตรง ทำให้ลดการดูดซึมที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ จึงช่วยยับยั้งการเกิดเนื้องอก เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และลดการอักเสบได้ด้วย (แอดมินเคยได้ยินว่าคนเป็นสิว ให้กินถั่วเยอะๆ ช่วยลดสิวได้อีกด้วยนะ)
.
ส่วนในถั่วเขียวงอก และถั่วเหลืองงอก พบว่ามีสารโพลีฟีนอลชนิดฟลาโวนอยด์ ที่มากขึ้นในระหว่างกระบวนการงอก และจะเพิ่มมากที่สุดหลังจากการงอก 6-8 วัน
.
ทำไมฟลาโวนอยด์ในถั่วงอกถึงน่าสนใจรู้มั้ย ก็เพราะว่ามันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ลดการอักเสบ ลดการแข็งตัวของเลือด(ไม่ให้เส้นเลือดอุดตัน) และเพิ่มพลังให้เอนไซม์ที่มีหน้าที่ย่อยและทำลายสารพิษ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้ดีทีเดียว
.
โดยคุณค่าทางโภชนาการของถั่วงอก 100 กรัม ที่เด่นๆคือ
มีโปรตีน 2.8 มิลลิกรัม
แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม
เหล็ก 12 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 บี2 วิตามินซี และอื่นๆอีกมากมาย
.
ถั่วเหลืองงอก พบสาร Phytoestrogens ซึ่งเป็นสารเอสโตรเจนที่ได้จากพืช ได้แก่ พวกไอโซฟลาโวน เทอปีน ลิกนิน โดยมีความสำคัญในการป้องกัน
มะเร็งเต้านม
มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งรังไข่
มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการหลังวัยหมดประจำเดือน
.
พบว่าในคนญี่ปุ่น เป็นกลุ่มคนที่กินถั่วเหลืองมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นการได้รับ ไอโซฟลาโวน 200 มิลลิกรัม/วัน เทียบกับคนเอเซียอื่นๆ ได้รับแค่ 25-45 มิลลิกรัม/วัน ส่วนคนแถบตะวันตกได้รับน้อยกว่า 5 มิลลิกรัม/วัน
จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในญี่ปุ่น และแถบเอเซีย มีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ น้อยกว่าประเทศทางตะวันตก
.
ในถั่วเหลืองงอก และถั่วดำงอก พบสารซาโพนินในปริมาณมาก ซึ่งสารซาโพนินนี้ มีคุณสมบัติต้านมะเร็งลำไส้ โดยมันจะเข้าไปขัดขวางการแบ่งเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตายลงได้
.
หากใครได้อยู่ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ตอนปี 2554 ซึ่งแอดมินก็ประสบมากับตัวเองด้วยเหมือนกัน น้ำท่วมเป็นเดือนๆ บางที่ท่วมหลายเดือน การหาผักมาทานนั้นยากมาก เนื้อสัตว์ยิ่งไม่มีทาง ได้กินแต่พวกขนมปัง
แต่มีกลุ่มคนที่คิดแก้ปัญหานี้ ด้วยการปลูกถั่วงอกกินเอง ซึ่งได้ทั้งโปรตีน และใยอาหาร ไม่มีไฟฟ้าก็กินดิบๆได้ เป็นทางเลือกที่ดีมากๆ
แต่การกินถั่วงอกดิบ จะมีข้อเสียตรงที่ สารไฟเตต ที่เป็นตัวขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และฟอสฟอรัส ทำให้ร่างกายนำไปใช้ไม่ได้
.
ข้อเสียอีกอย่างของถั่วงอกดิบคือ มีคาร์โบไฮเดรตที่ชื่อ Raffinose และ Stachyose ซึ่งมันไม่สามารถถูกย่อยได้ พอมันไปถึงลำไส้ใหญ่ ก็จะถูกแบคทีเรียย่อยแทน แล้วมันก็จะปล่อยก๊าซออกมา ทำให้เรารู้สึกท้องอืด
.
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรปรุงถั่วงอกให้สุกก่อน เพราะความร้อนจะไปทำให้สารไฟเตตสลายตัว
.
สำหรับต้นถั่วงอกที่ได้รับแสงแดด จะเห็นว่ามันจะมีใบอ่อนเป็นสีเขียว ซึ่งจะอุดมไปด้วยคลอโรฟิลด์ ที่สามารถยับยั้งการก่อมะเร็งได้ เลยมีอาหารเสริมที่สกัดจากต้นงอกของพืช เช่น alfafa sprouts , brussels sprouts , fava bean sprouts ดังนั้นการเพาะต้นถั่วงอก หรือต้นอ่อนของถั่วไว้กินเอง ก็ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย
.
สรุปจาก inmu.mahidol.ac.th