ทิ้งความคิดหักดิบ
“กินข้าวได้แล้วลูก” – “ไม่ล่ะแม่ ช่วงนี้หนูกำลังไดเอ็ท”
บางคนพอรู้สึกว่า ตัวเองอ้วนขึ้นแล้ว ก็จะบอกกับตัวเอง บอกกับคนรอบข้างว่า “ชั้นจะลดน้ำหนัก” “จะอดข้าวเย็น” “จะไม่กินขนม” “จะกินแต่กล้วย” ฯลฯ แล้วก็ลงมือกวาดของทุกสิ่งทุกอย่างในตู้เย็นออกไป ปิดประตูล็อคห้อง ไม่ออกไปไหน นอนอดอาหาร ทนท้องกริ่ว แล้วก็คิดว่าทนซักหน่อยจะได้ผอมลง โอเค…คุณอาจไม่ใช่แบบนั้น แต่ลองนับดูว่ามีกี่ครั้งแล้ว ที่ปฏิบัติการเริ่มต้นลดน้ำหนัก ทิ้งอาหารขยะในตู้เสบียง เดินไปซื้อสลัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ทำไมมันถึงกลับมาเป็นแบบเดิมได้ล่ะ ฮึกเหิมเมื่อไหร่ก็ทำทีนึง เบื่อแล้วก็เลิก จะวนอยู่ในวงจรนี้อยู่เรื่อยๆ
การลดน้ำหนักให้ได้ผล ต้องงดน้ำตาล งดแป้ง งดไขมัน งดนั่น งดนี่ แน่นอนว่ามันรวมถึงของชอบของเราทั้งหมด ที่ต้องงดไปเลย ความคิดนี้ใช้ได้เฉพาะในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ ดิฉันยังไม่เคยเห็นใครทำได้เลยนะ นอกจากพระอรหันต์ตัดแล้วซึ่งกิเลศนั่นแหละ
หลักการให้งดนั่น งดนี่ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วมันก็ได้ผลจริงๆซะด้วย แต่ถามว่าคุณสามารถทำแบบนั้น ไปได้ตลอดชีวิตมั้ย แค่คิดก็สยองแล้ว นี่ชั้นต้องอดกินของที่ชั้นชอบที่สุด มันคือชีวิตจิตใจของชั้นเลยนะ ถ้าขาดมันไปก็ไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่มีกำลังใจจะทำอะไรแล้ว แล้วก็นั่งซึมกระทือ จิ้มผักสลัดเข้าปาก เคี้ยวอย่างหมดอาลัยตายอยาก ควานหาน้ำสลัด เนื้อซักชิ้น ลูกเกดซักชิ้น ก็ไม่มี คุณทำได้แค่ 1 สัปดาห์ก็เก่งแล้ว หลังจากนั้น ก็จะฝันถึงของโปรด เริ่มมองอาหารข้างทาง ในร้านสะดวกซื้อ เห็นคนอื่นกิน รู้สึกเหมือนแดร็กคูล่าอดเลือดมาหลายเดือน พร้อมจะพุ่งเข้าใส่ หลายคนเคยทำแบบนี้แล้วน้ำหนักมันลด แต่พอกลับมากินแบบเดิมน้ำหนักก็กลับขึ้นมาอีก แล้วตกลงความสุขของคุณคืออะไรกันแน่ ถ้าความสุขของคุณคือการได้ลดน้ำหนัก เห็นน้ำหนักลง ก็ไม่ว่ากัน
หลายคนเข้าใจว่าการ “ไดเอ็ท” ก็คือการกินอาหารที่จำกัดจำเขี่ย อดอาหารบ้าง การไม่กินอะไรเลยบ้าง การกินแต่ผลไม้บ้าง น้ำผลไม้บ้าง แล้วก็โกหกตัวเองว่าไม่หิว แต่ก็ต้องอดทนทำ เพราะคิดว่าทำแค่ช่วงเดียว ทำในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ช่วงนี้ทนๆไปก่อน น้ำหนักลดแล้วผอมแล้ว ค่อยกลับไปกินเหมือนเดิมก็ได้
แต่จริงๆแล้ว การไดเอ็ท คือการควบคุมอาหาร คำว่าควบคุมไม่ใช่การอด แต่เป็นการ “ควบคุมปริมาณ” ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม (อ่านเพิ่มเติมที่ ต้องการแคลอรี่วันละ , กินไม่เกินกี่แคลอรี่ ถึงจะลดน้ำหนักได้ ) และการ “ควบคุมคุณภาพ” ให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนหลากหลาย
บางคนควบคุมควบคุมแต่ปริมาณ แต่ไม่ควบคุมคุณภาพ คือได้รับแคลอรี่โอเค แต่อาหารมีแต่ทำลายสุขภาพทั้งนั้น หรือบางคนควบคุมแต่คุณภาพ แต่ไม่ควบคุมปริมาณ คือเห็นว่ากินแต่อาหารสุขภาพ คิดว่ากินมากแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ดังนั้น การไดเอ็ท ต้องควบคุมทั้งปริมาณ และคุณภาพด้วย
เปลี่ยนวิถีชีวิตการกิน ให้ไปทางสุขภาพ เรียกว่าเปลี่ยน “ไลฟสไตล์การใช้ชีวิต” ก็ได้ คำว่าเปลี่ยนไลฟ์สไตล์(Lifestyle) มันก็คือต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิต พูดถึงตลอดชีวิตอาจดูขมขื่นไปหน่อย ถ้าเปลี่ยนเป็นทำใน”ระยะยาว” ก็ทำให้รู้สึกลดแรงกดดันลงมาบ้าง แต่รู้มั้ยว่าถ้าเราเปลี่ยนได้ในระยะยาว 6 เดือน 1 ปี 2 ปี แล้ว มันจะติดเป็นนิสัยดีๆ ไปตลอดชีวิตเองโดยอัตโนมัติ เหมือนการ เขียนโปรแกรมให้สมอง
ดังนั้น เราจะอยู่กับชีวิตนี้ได้อย่างไร โดยต้องกินอาหารสุขภาพ แต่ก็ยังอยากกินของชอบอยู่ได้ด้วย แล้วทำไมจะไม่ได้ล่ะ แน่นอนว่าอาหารสุขภาพมันไม่อร่อยเท่าของหวาน ของอ้วนๆ แต่เราสามารถผสมผสาน ให้อาหารสุขภาพเป็น “อาหารสร้างชีวิต” และอาหารที่ชอบเป็น “อาหารสร้างชีวา” ให้อยู่ด้วยกันได้ โดยที่อาหารสุขภาพต้องเป็นสัดส่วนที่มากกว่า ของชอบต่างๆที่ทำให้อ้วน เรายังสามารถกินของชอบได้อยู่ เพราะมันสร้างความชุ่มชื่นจิตใจ ทำให้มีกำลังใจ แต่ต้องเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า
การกินอาหารสุขภาพ ไม่ใช่ต้องเข้าป่ากินแต่ใบไม้รากไม้ ใช้ชีวิตปกติในเมืองก็ทำได้ แค่ให้สัดส่วนของอาหารสุขภาพ มากกว่าอาหารสนุกปาก แล้วค่อยๆเปลี่ยน ไม่ใช่ “หักดิบ” ชั่วข้ามคืน ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนนิสัยการกินแบบฉับพลันได้หรอก แล้วก็ไม่ควรทำแบบนั้นด้วย มันควรต้องค่อยๆเปลี่ยน ค่อยๆลดปริมาณ วันนี้จากตักข้าว 3 ทัพพี ลองลดเหลือ 2 ทัพพีดู ปกติ เคยกินปาท่องโก๋ 3 ตัว+กาแฟตอนเช้า ก็ลองลดปาท่องโก๋เหลือ 2 ตัว จากที่เคยใส่น้ำตาล 3 ช้อน ก็ลดเหลือ 2 ช้อน วันถัดๆไปก็ค่อยๆลดจำนวน ลดปริมาณลงเรื่อยๆ
.
ขอยกตัวอย่างเรื่องจริงอยู่คนนึง พอเราคุยให้ทำแบบข้างต้น ให้ลดจาก 3 เป็น 2 ลดจาก 2 เป็น 1 ก็เกิดปัญหาว่า “โหย…ลดไปเรื่อยๆแบบนี้ อีกหน่อยก็ต้องอดกินอยู่ดีใช่มั้ย” “ซักวันก็ต้องถึงวันที่ไม่ได้กินมันอีกเลยใช่มั้ย” “ถ้างั้นขอกินแบบเดิมดีกว่า” มันยากที่จะทำใจได้ กับการที่จะต้องจากอาหารผู้เป็นทีรักยิ่ง เรื่องเพิ่มอาหารสุขภาพไม่มีปัญหา เพราะกินเพิ่มมันง่าย แต่ คำว่า “งด” “ลด” “เปลี่ยน” มันเป็นคำที่ทิ่มแทงใจ ได้ยินเมื่อไหร่ ใจหายทุกที
เลยลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ “งั้นต่อไปขอ 2 ละกัน” (ไม่มีคำว่า”งด” “ลด” “เปลี่ยน”) พอทำได้มั้ย เออ…ทำได้แฮะ ยังไม่ต้องเหลือ 1 ในวันถัดๆไป ขอ 2 ทุกวันเลย ทำได้มั้ย 1สัปดาห์ผ่านไป ไม่มีวันไหนกินเกิน 2 เลย แล้วเราก็ค่อยๆ ไปดูของอย่างอื่นที่น่าจะลดได้อีก พบไก่ทอดหาดใหญ่ที่ต้องกินทุกวัน วันละ 1 สะโพก หมูปิ้งต้องติดมัน 5 ไม้ หนังไก่ปิ้ง 2 ไม้ ก็ทำแบบเดิมอีก ไก่ทอดเลาะหนังกรอบๆออกกินแต่เนื้อ กับ หมูปิ้งขอ 2 ไม้ได้มั้ย (ไม่มีหนังไก่ ไม่บอกว่าห้ามกิน แต่ไม่ได้ขอให้กิน) เขาก็จะเมมโมรี่ไว้ในใจว่า อ๋อ…สามารถกินไก่ทอดได้เหมือนเดิม แค่เลาะหนังออก หมูปิ้ง 2 ไม้ โอเค…ถ้าแค่นี้ทำได้เลย สบายอยู่แล้ว
ทำแบบนี้กับอาหารอย่างอื่นๆอีก คือลดปริมาณลง แต่ไม่ถึงกับเลิก เราจะรู้สึกว่า เรายังได้กินของที่ชอบอยู่ ในขณะเดียวกัน เมื่อลดปริมาณอาหารขยะลง ก็ต้องเพิ่มอาหารสุขภาพด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่ แต่ละมื้อควรกินอะไร ?) ในระยะยาวเราจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และลดลงได้ด้วยตัวเอง ในปัจจุบันคนที่ว่านี้ เวลาผ่านมา ยังไม่ถึงครึ่งปีเลย สามารถลดทุกอย่างได้เอง ของไม่ดีบางอย่างแทบจะไม่ได้กิน แต่ก็มีบ้างบางโอกาส เดือนละ 1-2 ครั้ง ของบางอย่างที่ชอบมากๆก็กินประจำ แต่ในปริมาณที่น้อย โดยที่ไม่ได้มีคนบอกให้เลิก
อีกตัวอย่างหนึ่ง สองสามีภรรยาคู่หนึ่ง ผู้เป็นภรรยาหุ่นดีรักสุขภาพ ส่วนผู้เป็นสามีเป็นคนอ้วนตั้งแต่เด็ก การสั่งให้งดน้ำอัดลมในทันทีนั้น ถึงกับบ้านแตกกันเลย ซึมไปหลายวัน หรือพวกพฤติกรรมการกินมันๆ อาหารทุกอย่างต้องมีน้ำจิ้ม สัดส่วนน้ำจิ้มกับอาหารแทบจะพอๆกันเลย คุ๊กกี้เคลือบช็อคโกแลต สัปปะรดกวน มะขามแก้ว ของหวานเกือบทุกชนิด มันคือชีวิตจิตใจของเขา
เคยห้ามซื้อไปเลย ห้ามกินแม้แต่ชิ้นเดียว ทำแต่อาหารสุขภาพให้ มีแต่ผัก ไก่ ปลา ไข่ ผลไม้ ปรากฏว่าบรรยากาศในบ้านมันเปลี่ยนไป เริ่มมีลับลมคมใน ดูอึมครึม ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเดิม เหมือนซากศพ ทำแบบนั้นได้ไม่กี่วัน พอรู้ว่าแอบซ่อนของกินเอาไว้ จึงต้องคุยกัน ต่อลองกัน เหมือนแม่ค้า กับลูกค้าเลย ตกลงกันว่าจะลองค่อยๆลดปริมาณ จะดีกว่าที่จะตัดไปเลย
ทุกวันนี้ผู้เป็นภรรยาเล่าว่า ของบางอย่างที่ว่าเคยขาดไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้นานเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ที่ไม่ได้กินมัน แต่ของบางอย่างที่ชอบมากๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังกินอยู่ แต่ลดเหลือน้อยมากๆ
สรุป สร้าง “การไดเอ็ทที่เป็นของตัวเอง” ในแบบที่คิดว่า เราสามารถทำได้ ทีต้องอยู่บนพื้นฐานของอาหารสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ก็ยังทานของชอบได้บ้าง (ยกเว้นว่าคุณอยากจะเลิกมันจริงๆนะ ก็สมควรจะเลิกให้ได้ตามที่ตั้งใจ) อย่าหลอกตัวเองเพื่อให้ตัวเองดูดี ด้วยการ ” ทิ้งความคิดหักดิบ “ ไปซะ
เขียนโดย ezygodiet.com