หิวกับอยาก มันต่างกันนะ
บางทีคนเราก็แยกไม่ค่อยออกว่า หิวกับอยาก มันต่างกันยังไง บางทีแค่อยากก็บอกว่าหิว บางที่ร่างกายหิวเพราะขาดอาหารมานาน ก็กลับอดไม่ยอมกินเพราะกลัวอ้วน
.
ความหิว เป็นความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนหลายตัว เช่น อินซูลิน เกรลิน ฮอร์โมนพวกนี้จะหลั่งมากเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อ ร่างกายไม่ได้รับอาหารเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ร่างกายก็แสดงออกมาเช่น เสียงท้องร้อง ปวดท้อง มือสั่น หน้ามืด ปวดหัว ไม่มีแรง ขาดสมาธิ
.
ความอยากอาหาร เป็นความรู้สึกที่ต่างจากความหิว เพราะร่างกายไม่ได้เรียกร้อง แต่จิตใจเรียกหา โดยมีฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือ อินซูลิน เลปติน เกรลิน บวกกับอารมณ์เช่น เบื่อ เหงา กดดัน เครียด โกรธ ผิดหวัง เสียใจ มีความสุข
.
สรุปคือ ความหิว มันต้องมีร่างกายคอนเฟิร์ม แต่ความอยากอาหาร มันเป็นแค่ความรู้สึก อาจมีกลิ่น รูป เสียง ความทรงจำ มากระตุ้น ก็อาจทำให้คิดว่าเราหิวก็ได้
คนที่กำลังลดน้ำหนัก คงต้องมีสติกับความรู้สึกหิวอิ่มนี้ให้มากหน่อย ถ้าทำได้ก็อย่ากระตุ้นต่อมอยาก แต่ถ้าหิวก็อย่าอดเหมือนกัน
บทความเพิ่มเติม เมื่อไหร่หิว ,เมื่อไหร่อิ่ม , ไม่ได้หิวแต่กินเพราะ , วัดระดับความหิว-อิ่ม
.
ส่วนความอิ่ม เป็นความรู้สึกทีทั้งร่างกายและอารมณ์พร้อมใจไปทางเดียวกัน พุงป่อง รู้สึกแน่นท้อง มีแรง ไม่อยากอาหาร
.
.
อะไรที่ช่วยไม่ให้เราหิว และไม่อยากอาหารเร็วกว่าที่ควรบ้าง
1. ชนิดของสารอาหาร
ไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ มันจะทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น และลดความอยาก ทำให้ไม่กินเยอะเกินไปทั้งมื้อนี้ และมื้อหน้า ไฟเบอร์ชนิดที่สามารถละลายน้ำได้ที่ว่านี้ พบได้ในพวก ผัก ผลไม้ ถั่ว ข้าวโอ๊ต
โปรตีน เป็นอาหารที่ทำให้หนักท้องได้นาน ถ้าเทียบระหว่าง นม กับน้ำผลไม้ พบว่านมทำให้อิ่มได้นานกว่าน้ำผลไม้
.
2. ความถี่ของมื้ออาหาร
การอดมื้ออาหาร ก็ทำให้มื้อถัดไปหิวมากขึ้น ดังนั้น ควรกระจายมื้อตลอดทั้งวันให้พอดี ปกติแล้วกิน 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็ถือว่าเหมาะสมดีแล้ว แต่สำหรับคนที่คิดว่าหิวบ่อยลองอ่าน กินบ่อย ไม่อ้วน , กินวันละกี่มื้อดี
.
3. กินทันทีที่ตื่น
เพราะตอนนอนไม่ได้ต้องใช้พลังงานมาก แต่พอตื่นต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทันที การกินอาหารเช้า หรือหลังตื่นนอนไม่ว่าเราจะเป็นคนกลางคืนที่ตื่นเย็นก็ตาม มื้อแรกหลังจากตื่น คืออาหารเช้า จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนอิ่ม ยิ่งเพิ่มโปรตีนให้มากในอาหารเช้า ก็จะยิ่งช่วยลดความหิว และไม่ทำให้กินมากเกินไปในมื้อถัดไปด้วย
.
4. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ(แอโรบิค) อาจทำให้หิวหลังออกกำลังกายก็จริง แต่ความอยากอาหารลดลง แต่น่าแปลกที่การออกกำลังกายแบบโยคะ สามารถช่วยลดทั้งความหิว และความอยากพร้อมกันได้ด้วย
.
5. การนอนหลับ
การนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอ ก็มีผลต่อระดับฮอร์โมนหิวอิ่มด้วยเหมือนกัน นอนให้มากพอคือ มากกว่า 7 ชั่วโมง ก็ช่วยลดความหิว ความอยากได้ดีทีเดียว
.
สรุปข้อมูลจาก raipoong.com