การจัดการทุกอย่างให้ พอดี
อยากลดน้ำหนักหรอ ก็กินให้น้อยๆสิ แล้วที่บอกว่าน้อยๆ นี่มันน้อยแค่ไหนล่ะ กินแต่ผักอย่างเดียวทั้งวันเลยมั้ย แล้วก็นอนท้องร้องทั้งคืน เลิกกินของชอบไปเลยมั้ย แล้วก็โหยหาทีหลัง แล้วจะทำได้นานแค่ไหนเชียว
อย่างคนที่ไม่ชอบกินผักเลย แต่ต้องมากินผักเปล่า ไข่จืดๆ เพียงเพราะเขาบอกว่า น้ำสลัดไม่ดีห้ามกิน ซอสกินแล้วอ้วน แป้งห้ามกินเด็ดขาด
ทำไปทำมาก็เลิกเพราะกินไม่ได้ แล้วก็บอกว่า เราคงลดน้ำหนักไม่ได้หรอก ถามว่า ซอสช้อนนึง น้ำสลัดช้อนนึง กินแล้วอ้วนเลยหรอ ถ้ามันทำให้เรากินผักได้มากขึ้น
คนที่เคร่งเครียดกับการลดน้ำหนัก ด้วยการทานให้น้อยที่สุด ทำทุกอย่างตรงตามตำราเป๊ะ (โดยฝืนตัวเองแบบบ้าพลัง) ส่วนใหญ่เมื่อกลับมาทานเหมือนปกติแล้ว น้ำหนักก็กลับมาเหมือนเดิม
แล้วแบบนี้จะมีประโยชน์อะไร เราเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง นิสัยการกินเปลี่ยนมั้ย น้ำหนักลดตอนแรก แล้วกลับมาขึ้นเท่าเดิม ก็ถือว่าน้ำหนักไม่เปลี่ยนอยู่ดี แล้วเราควรจะทำอย่างไรดี
การค่อยๆปรับเปลี่ยนอย่างพอเหมาะพอดี ทั้งการกิน การออกกำลังกาย และที่สำคัญคือ ปรับเปลี่ยนความคิดของเราเอง
.
แล้วอะไรคือความพอเหมาะพอดี
ความพอเหมาะพอดี ก็คือ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป สม่ำเสมอ ไม่ใช่เดี๋ยวก็กินน้อยมากๆ เดี๋ยวก็กินมากๆ อารมณ์ขึ้นๆลงๆ สวิงเป็นรถไฟเหาะตีลังกา
ความพอเหมาะพอดี อาจเรียกว่า ความบาลานซ์ หรือ ความสมดุลของทุกอย่าง เช่น ความต้องการของเราเอง ความจำเป็นต้องทำ ความสามารถส่วนตัว เป้าหมายส่วนตัว นิสัย วิถีชีวิต หาทางในแบบของตัวเอง เหมาะกับตัวเอง แล้วสามารถทำได้ทุกวัน สม่ำเสมอ โดยไม่ฝืนมาก ไม่เดือดร้อนมาก
ต้องค่อยๆเริ่มต้นฝึก และเรียนรู้ เช่น การคำนวณแคลอรี่ การรู้จัก serving size การแบ่งส่วนอาหาร การวางแผนอาหารในแต่ละมื้อ
ไม่ทำตามแฟชั่น ตามกระแสนิยม ตามสูตรแปลกๆ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับตัวเรา หรือคิดถึงเหตุและผลเลย
การดูแลสุขภาพ ต้องทำทุกอย่างให้สมดุล การเลือกทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย ไม่มีคำว่า “จุดสิ้นสุด” ไม่มีคำว่า “กลับมาทำแบบปกติ”
บางคนบอกว่า ช่วงนี้ต้องดูแลสุขภาพ ช่วงนี้ต้องลดน้ำหนัก ให้ทันวันนั้นวันนี้ หลังจากนั้น ก็กลับไปอ้วนเหมือนเดิม แล้วก็โทษว่าทำไปไม่เห็นจะถาวรเลย
มันจะถาวรได้อย่างไร ในเมื่อเราเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรือถ้าอยากถาวร ก็มีแต่อ้วนถาวรนั่นแหละ จะเอามั้ย
แล้วถ้าลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายแล้ว จะทำอย่างไรต่อล่ะ ก็แค่เพิ่มแคลอรี่ให้มากกว่าตอนลดน้ำหนัก แต่ไม่ใช่เพิ่มมากเหมือนตอนอ้วน คำนวณแคลอรี่เข้า กับแคลอรี่ออกให้สมดุลกัน
หลังจากลดน้ำหนักได้แล้ว สิ่งถัดไปที่ต้องทำไปตลอดชีวิตก็คือ การรักษาน้ำหนัก ไม่ใช่การกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม กินเยอะเหมือนเดิม
มัวแต่บอกให้ค่อยๆปรับเปลี่ยน แต่ปัญหาก็คือ ทุกคนอยากเห็นผลเร็วๆ อย่างนั้นจะทำอย่างไรดี
ความใจร้อน เป็นอารมณ์ที่เราต้องควบคุม เหมือนการควบคุมอาหาร
.
มี 2 แนวคิดที่ทำให้ใจเย็นลงคือ
1. อาหารไม่ใช่ศัตรู
จริงๆแล้วอาหารไม่มีคำว่า “ดี” หรือ “เลว” มันก็จริงที่อาหารบางอย่าง มีสารอาหารมากกว่าอีกอย่าง เช่น น้ำตาลทราย ให้พลังงานแต่ไม่ให้คุณค่าอะไรเลย แต่ผลไม้ ให้พลังงานเหมือนกัน แต่ให้วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ด้วย
แต่น้ำตาลทรายก็ไม่ใช่ของเลวร้าย ที่เราต้องกลัวจนเหมือนดูถูกเหยียดหยาม คนที่ใส่น้ำตาลทรายในถั่วต้มแค่ไม่กี่ช้อน
ประเด็นก็คือ ไม่มีอาหารช่วยลดน้ำหนัก และไม่มีอาหารที่ทำให้อ้วน มันขึ้นอยู่กับความสมดุล ถ้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพแต่กินเยอะมาก ก็ทำให้อ้วนได้ แต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่กินน้อย ก็ไม่ทำให้อ้วนหรอก (ไม่ได้พูดถึงสุขภาพนะ)
สิ่งที่เราต้องทำก็แค่ รู้เป้าหมายแคลอรี่ของตัวเอง กินไม่ให้เกินนั้น ให้มีสารอาหารครบถ้วน และปริมาณที่พอเหมาะ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ อย่าลืมเหลือเนื้อที่ให้ของที่เราชอบไว้ด้วย แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดเลย ถ้าควบคุมปริมาณอยู่
.
2. มีการพัฒนา ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
คำว่า ประสบความสำเร็จ การทำตามโปรแกรมลดน้ำหนัก ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ 100% สมมติว่า วันนี้เผลอกินโดนัทไป แล้วไม่ได้ออกกำลังกายตามแผน ก็ไม่เป็นไร ก็แค่ ชดเชย เฉลี่ยๆกันไปในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มะเรื่องนี้ ก็ได้ แต่ไม่ใช่ผลัดวัประกันพรุ่ง ซะจนติดหนี้ตัวเองบานเลยนะ
มันไม่ใช่การแข่งขัน ไม่มีครูมาคอยให้คะแนน เรื่องที่เราคิดว่าเป็นความผิดพลาด จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้เท่านั้น ที่ต้องเป็นกันทุกคน
สิ่งสำคัญคือ วางแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น มีแผนสำรอง และรู้จักพัฒนา ปัญหาที่เราคิดว่ามันยากสำหรับตอนนี้ ทำให้มันเป็นปัญหาที่จิ๊บจ๊อยสำหรับวันต่อๆไป
เรียนรู้ เข้าใจในนิสัยของตัวเอง และรับมือกับมัน เช่น เราเป็นคนที่ชอบกินมาก เราก็ต้องหาทางที่ทำให้ตัวเองจำกัดปริมาณขนม แบ่งเป็นมื้อ แยกถุง แยกกล่องไว้ จะได้ไม่เผลอกินทีเดียวหมด
หรือเป็นคนที่ต้องกินอะไรให้อิ่ม ให้หนักท้อง ถ้าไม่งั้นก็จะควานหาอะไรมาใส่ให้เต็มให้ได้ อาจรับมือด้วยการทานแกงจืด ที่เต็มไปด้วยน้ำ และผัก ทำให้รู้สึกหนักท้อง จนกินขนมได้น้อยลง เป็นต้น
สำหรับการออกกำลังกาย ถ้าปกติปั่นจักรยานได้แค่ 15 นาที ก็ต้องพัฒนาให้ปั่นได้นานขึ้นทีละนิด ถ้าวันนี้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ตามที่ตั้งใจ เราก็ยกยอดไปเป็นวันพรุ่งนี้ จากเดิมที่ปั่น 30 นาที ก็ชดเชยของเมื่อวานที่ไม่ได้ปั่นอีก 30 นาที เป็น 1 ชม. หรือจะผ่อนชำระวันละ 10 นาที 3 วัน รวมเป็นวันละ 40 นาที ก็ได้
.
สรุปคือ ผิดแผนเพื่อเรียนรู้ เรียนรู้เพื่อฝึกฝน ฝึกฝนเพื่อพัฒนา พัฒนาเพื่อให้ทำได้ตลอด ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอเหมาะ พอดี ไม่มากไปจนเครียด ไม่น้อยไปจนไม่เห็นผล
กลับหน้าแรก ezygodiet.com