ครัวช่วยลดน้ำหนัก

ครัวช่วยลดน้ำหนัก

ครัวช่วยลดน้ำหนัก

ครัวเป็นส่วนสำคัญมาก สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนัก คนที่ทำอาหารทานเอง มักจะลดน้ำหนักได้ดีกว่า วันนี้แอดมินเลยอยากพาเข้าครัว แม้ว่าจะเป็นคนทำอาหารไม่ค่อยเป็น หั่นผักยังไม่เท่ากันเลย แต่แอดมินไม่ได้พาไปทำกับข้าว แต่อยากแนะนำวิธีการวางแผนในครัว ที่เราอาจมองข้ามไป ลองตามมาค่ะว่า ครัวช่วยลดน้ำหนัก ได้อย่างไร

.

1. มีโน๊ตในครัว

การไปจ่ายตลาดโดยไม่มีโพย ทำให้มีโอกาสซื้อของที่ไม่จำเป็นอย่าง ขนม ของหวาน แต่กลับไม่ค่อยได้ในสิ่งที่ต้องการจริงๆ   การติดกระดาษโน๊ต พร้อมปากกาไว้ที่ตู้เย็น  พร้อมจดตลอดเวลาเมื่อนึกขึ้นได้

อาจเป็นแม็กเน็ตติดตู้เย็นไว้ทับโน๊ต แล้ววางปากกาไว้ให้เห็นชัดๆ หรือห้อยไว้ให้หยิบง่าย ไม่หนีหายไปไหน   หรือจะเป็นกระดานไวท์บอร์ดน่ารักๆ

นอกจากจะเขียนเมนูอาหาร  หรือจดโน๊ตของที่จะต้องซื้อได้แล้ว  ก็เป็นของประดับห้องครัวได้ด้วย  ไม่ใช่แค่จดก่อนจะไปซื้อเท่านั้น แต่เราสามารถจดได้ทุกเวลา

.

2. วางแผนวัตถุดิบอาหาร

ถ้าเราสามารถไปจ่ายตลาดได้แค่ สัปดาห์ละครั้ง  ก็ต้องวางแผนได้แล้วว่า ต้องทานกันกี่คน กี่มื้อ ใน 1 สัปดาห์   สมมุติว่าต้องทำอาหารเอง 7 มื้อ ต่อสัปดาห์ ต่อสองคน  ก็แบ่งเป็น โปรตีน 1 ส่วน ต่อมื้อต่อคน  ผัก 2 ส่วน ต่อมื้อต่อคน และแป้ง 1 ส่วน ต่อมื้อต่อคน ดังนั้น 7 มื้อ ก็ต้องมีโปรตีน 14 ส่วน  ผัก 28 ส่วน และแป้ง 14 ส่วน

.

โปรตีน เช่น  อกไก่ 1 ชิ้นใหญ่ ต่อมื้อต่อสองคน , ไข่ 4 ฟอง ต่อมื้อต่อสองคน , ปลา 1 ตัว ต่อมื้อต่อสองคน ,เต้าหู้ 1 ก้อน ต่อมื้อต่อสองคน

ผักสด  ประมาณเท่า 2-4 กำมือ สำหรับ  1 มื้อต่อสองคน

แป้ง  อาจเป็นของที่ไม่ต้องซื้อบ่อยก็ได้ เพราะเราทานข้าวกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เส้นขนมจีน หรืออะไรให้อ้วนเปล่าๆ  ซื้อข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือลูกเดือย ข้าวบาเลย์ ก็เพียงพอ

ผลไม้  2-4 กำมือ  สำหรับ 1 มื้อต่อสองคน

.

ดังนั้นสรุปคร่าวๆว่า   ใน 7 มื้อ ต้องซื้ออย่างน้อย  อกไก่ 7 ชิ้น  ผัก 14 กำมือ  ผลไม้ 14 กำมือ  นี่เป็นแค่การยกตัวอย่างเท่านั้น สามารถปรับเปลี่ยนตามวิถีชีวิตของเราเอง

.

แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องวางแผนวัตถุดิบอาหาร  กะปริมาณให้เพียงพอ  แล้วจดโน๊ต  ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ตู้เย็นของเราจะเต็มไปด้วยขนมปัง ของกินเล่น น้ำหวาน เต็มไปหมด  ผักอาจหมดตั้งแต่ 2 วันแรกแล้ว โปรตีนก็อาจมีแต่หมูสามชั้น  หรืออาหารสำเร็จรูป เช่น ทอดมัน ปลาทอด ไส้กรอก

.

ถ้านึกไม่ออกว่าจะใช้วัตถุดิบอะไรดี ลองหาไอเดียจาก ตัวอย่าง อาหารสุขภาพ

.

3. ซื้อตามโน๊ต

เมื่อวางแผนวัตถุดิบอาหารแล้ว จดโน๊ตแล้ว ก็ต้องซื้อตามที่จดไว้ด้วย  เมื่อไปถึงตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต จะมีของล่อตาล่อใจเต็มไปหมด  ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ซื้อของตามที่จดไว้ให้เสร็จซะก่อน  แล้วหลังจากนั้น อยากซื้ออะไรเพิ่ม ค่อยหยิบทีหลัง

.

เราอาจสังเกตุได้ว่า เมื่อหยิบของตามที่จดไว้ก่อน  ก็ทำให้ตระกร้าจ่ายตลาดของเราเต็มไปหมด  หรือถือของเต็มไม้เต็มมือแล้ว  ก็ทำให้เราไม่อยากซื้อขนม หรือของที่ไม่จำเป็น ทำให้ประหยัดไปในตัวด้วย

.

4. แบ่งพื้นที่ในตู้เย็นให้เป็นระเบียบ

หลายบ้านพอซื้อของมาแล้ว  ก็จับยัดๆใส่ตู้เย็นไป โดยไม่จัดระเบียบ  การจัดระเบียบตู้เย็นนอกจากจะทำให้ง่ายต่อการหยิบใช้งาน หรือเช็คของแล้ว   ยังทำให้วัตถุดิบที่เราซื้อมา เก็บไว้ได้นานขึ้นด้วย

.

เช่น เนื้อสัตว์  เมื่อซื้อมาแล้ว  ปกติเราก็ใส่ช่องแข็งทั้งถุง  ให้นำมาล้างให้สะอาดก่อน  แล้วหั่นแบ่งตามจำนวนมื้อ จับใส่ถุง หรือใส่กล่อง แยกเป็นมื้อไว้ แล้วแช่ช่องแข็ง  พอจะทำกับข้าว ก็แค่หยิบกล่องนั้นมาทั้งกล่อง  ทำให้เนื้อชิ้นอื่นๆไม่ถูกนำมาละลายไปด้วย

.

ส่วนผัก ให้แบ่งชั้นวาง ตามลำดับความเสียเร็วหรือช้า  ถ้าผักที่อยู่ได้นาน ก็ใส่ด้านในๆ หรือชั้นล่างๆ  ถ้าผักที่อยู่ได้ไม่กี่วัน ก็ใส่ชั้นบนๆ หรือด้านนอก เพื่อให้เราหยิบไปใช้ก่อน จะได้ไม่ลืมทิ้งไว้ในซอกมุมลึกลับในตู้เย็นจนเสีย   แล้วมัดถุงให้แน่น หรือใส่กล่อง ไม่ให้อากาศเข้า ทำให้ผักอยู่ได้นานไม่เหี่ยว ถ้าผักที่มีรากสามารถใช้กระดาษทิชชู่ชุบน้ำพันรากไว้

.

ผลไม้ ให้ล้างแล้วปอก หรือตัดแต่ง  แบ่งใส่กล่องไว้ ให้ทานได้ทั้งวัน ทำวันต่อวัน วางไว้ด้านนอกสุดของตู้เย็น วางในที่ให้เห็นง่าย  เปิดตู้เย็นปุ๊บเห็นทันที พอรู้สึกอยากกินขนมระหว่างวัน ได้เห็นผลไม้น่ากิน แถมหยิบง่าย เอาเข้าปากได้ทันที

.

สำหรับขนมจุบจิบ  ขนมปัง หรือของล่อปากต่างๆ ให้เก็บไว้ในตู้ หรือส่วนที่ปิดมิดชิด ที่เวลาเราเปิดตู้เย็นแล้วจะมองไม่เห็นมัน

.

5. เขียนแคลอรี่บนซองขนม

เป็นเรื่องที่ไม่มีวันห้ามได้ สำหรับขนม ของจุบจิบ แอดมินใจใช้วิธีเตือนตัวเองถึงปริมาณที่อนุญาติให้ทานได้  เพราะแคลอรี่บนซองขนมแต่ละอย่าง ตัวเล็กกระจิ๊ด บางทีก็แทบไม่อยากมอง  แต่พอมองแล้วก็กินไม่ลง

.

เลยใช้วิธีนำปากกาเมจิกสีแดงหัวใหญ่ๆ  มาเขียนไว้บนซองว่า  1 ชิ้น = กี่แคลอรี่ หรือ กินครั้งละ 2 ชิ้น แล้วอย่าลืมเก็บขนมต่างๆไว้ในตู้ที่มิดชิด ใส่ถุงทึบๆ หรือคลุมผ้าไว้ อย่าให้มันมาลอยหน้าลอยตาให้เราเห็นเป็นอันขาด  พออยากทานก็ค่อยไปค้น กว่าจะเปิดถุงหลายชั้น กว่าจะเปิดกล่อง กว่าจะค้นเจอ ก็อาจหายอยากไปแล้วก็ได้

.

ใครดูฉลากโภชนาการไม่เป็นศึกษาได้ที่นี่

6. ตั้งเหยือกน้ำและแก้ว

หลายครั้งที่เดินเข้าครัว เพราะแค่อยากทานอะไรซักอย่าง ให้ชุ่มปาก แต่ท้องไม่ได้หิวหรอก  เป้าหมายแรกคือเปิดตู้เย็น  แต่การแช่น้ำเย็นไว้หลายๆขวด หรือเตรียมเหยือกน้ำให้มีลักษณะใส ที่ดูสะอาดสะอ้าน มองเห็นน้ำใสๆข้างใน เห็นแล้วน่าหยิบ ต้องวางคู่กับแก้วใบโปรด  จัดให้พร้อมเทดื่มได้ทันที  วางไว้บนตู้เย็น โต๊ะทานข้าว หรือวางหลายๆจุดก็ได้ ก็จะดึงดูดความสนใจเราได้มาก

.

เห็นมั้ยเพียงแค่นี้ก็เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมเล็กๆน้อยๆ ที่หลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ให้เป็นประโยชน์ต่อการลดน้ำหนักของเราได้แล้ว  วันนี้อย่าลืมกลับไปเช็คสภาพครัว ตู้เย็น ชั้นเก็บอาหารกันนะคะ

.

โดย ezygodiet.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.